คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมมือ 6 หน่วยงาน สร้างศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ขนส่ง และการจัดการระบบโลจิสติกส์ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ต้อนรับการตรวจประเมินห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ESPReL
April 3, 2019
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแสดงนิทรรศการ “ความสุข 8 ประการ” (สสส. Happy 8) และจัดกิจกรรม “Workshop ความสุขไม่รู้จบ”
April 3, 2019

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมมือ 6 หน่วยงาน สร้างศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ขนส่ง และการจัดการระบบโลจิสติกส์ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

logistic10

วันที่ 3 เมษายน 2562 ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การสร้างศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ขนส่ง และการจัดการระบบโลจิสติกส์ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), นายชุมพล สายเชื้อ สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย, นายพีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด, รองศาสตราจารย์ ดร.อิทธิพล แจ้งชัด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ศาสตราจารย์ ดร.ชัย จาตุรพิทักษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธี วังเตือย คณบดีวิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมลงนามในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาโครงสร้างระบบโลจิสติกส์พื้นฐานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งต่อให้สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย และบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด เตรียมพร้อมสู่การขับเคลื่อนเป็นมหานครแห่งเอเชีย ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพฯ

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล เปิดเผย่วา พิธีลงนามความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ ที่มีหน่วยงานที่สำคัญและเป็นกำลังหลักในการพัฒนางานวิจัยชิ้นนี้ให้เกิดขึ้น ถือเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษา และหน่วยงานภาคเอกชน ที่ร่วมกันผลักดันงานวิจัยด้านโลจิสติกส์ที่จะสามารถเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ให้สามารถนำไปใช้ได้จริงต่อไป โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สกว. ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จแล้วจะสามารถใช้เป็นข้อเสนอแนะ และแนวทางในการวางระบบโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า ระบบคมนาคมขนส่งในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเริ่มจาก กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวง กระจายไปยังเขตปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) รวมถึงหัวเมืองหลักตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศ หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญและเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ คือ ปัจจัยทางด้านต้นทุนโลจิสติกส์ โดยต้นทุนค่าขนส่งสินค้ายังคงเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่สุด สาเหตุหลักมาจากปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รวมถึงขาดการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และเขตจังหวัดปริมณฑลมีแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลถึงระบบโลจิสติกส์ที่ต้องรองรับการไหลของสินค้าที่เพิ่มขึ้นไปด้วย

จากปัญหาดังกล่าวทีมวิจัยได้ดำเนินโครงการระยะที่ 1 โดยศึกษาข้อมูลระบบโลจิสติกส์กระบวนการไหล ของสินค้า โครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง และข้อมูลหมวดสินค้าที่สำคัญที่ส่งผลต่อระบบโลจิสติกส์ในเขต กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงประเมินสภาพปัจจุบันและแนวโน้มในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในเขตเมืองในอนาคต ซึ่งสรุปผลได้ว่าแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างระบบโลจิสติกส์พื้นฐานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่สำคัญ คือ ควรมีการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า (City Distribution Centre: CDC) และศูนย์กระจายสินค้าย่อยในเขตเมือง เพื่อรองรับธุรกิจ E-Commerce ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อส่งเสริมการบริการจัดส่งสินค้าในช่วงสุดท้ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ส่วนโครงการระยะที่ 2 คณะวิจัยได้นำความรู้และสิ่งที่ค้นพบดังกล่าวมาต่อยอดแนวคิดของการทำให้เกิด CDC ผนวกกับการสร้างแพลตฟอร์มร่วมขน Joint Delivery System (JDS) จะสามารถสร้างระบบเครือข่ายใหม่ในโซ่อุปทานการขนส่งในเขตเมืองและปริมณฑลได้ โดย CDC จะเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ แปรผันตามขนาดชุมชนในเขตเมือง และทำหน้าที่รวบรวมและกระจายสินค้าภายในพื้นที่ ให้สามารถลดการขนส่ง เคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น มีการร่วมขนของผู้ประกอบการ ช่วยให้ลดจำนวนเที่ยวรถในการขนส่งและลดจำนวนรถเที่ยวเปล่า ส่งผลให้ลดมลพิษที่เกิดจากการขนส่งลงได้ นอกจากนี้ CDC ที่มีขนาดเล็กในเมืองยังสามารถใช้รองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของโลจิสติกส์ E-Commerce และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับต่างชาติได้ เพื่อเป็นการกำหนดแนวทางระบบการจัดการโลจิสติกส์ในภาคการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพในอนาคต และพัฒนาขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลก้าวสู่การเป็น “มหานครแห่งเอเชีย”

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ความร่วมมือนี้จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการดำเนินการศึกษาระบบโลจิสติกส์กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเตรียมความพร้อมการเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยมุ่งเป้าของ สกว. ที่ดำเนินการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ สกว. ในการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา สกว. ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมาโดยตลอด ภายใต้กรอบการวิจัยและพัฒนาด้านวิชาการเพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการและการจัดการระบบโลจิสติกส์กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมี รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ และมีสถาบันการศึกษาทั้ง 4 แห่ง รับผิดชอบการดำเนินงานด้านวิชาการ ขณะที่สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย และบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด จะดำเนินการสนับสนุนข้อมูล ซึ่งนำผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อการการวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน เครือข่ายระบบ และความร่วมมือกันขนส่งสินค้า ผลงานวิจัยชิ้นนี้มิได้เพียงทำให้ระบบโลจิสติกส์ในเขตเมืองมีประสิทธิภาพ แต่ยังสามารถลดจำนวนรถในการขนส่ง ส่งผลให้เกิดการลดมลพิษในเขตเมือง พร้อมทั้งยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอีกด้วย

Recent post