จดหมายเหตุประวัติของมหาวิทยาลัย

จดหมายเหตุประวัติของมหาวิทยาลัย

mu-screen2

เมื่อพิจารณาจากประวัติของมหาวิทยาลัยแล้วจะเห็นว่า มหาวิทยาลัยมีอายุยาวนานมากกว่า 100 ปี มีวิวัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัยกว่าจะมาเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น เริ่มที่โรงศิริราชพยาบาล โรงเรียนแพทยากร โรงเรียนราชแพทยาลัย โดยเป็นคณะหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วจึงสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2512   จึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ประวัติของมหาวิทยาลัยมหิดลโดยสังเขป

พ.ศ. 2429, 22 มีนาคม :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะคอมมิตี้จัดสร้างโรงพยาบาล และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 200 ชั่ง (16,000 บาท)ให้เป็นทุน คณะคอมมิตี้ ขอพระราชทานที่ดินส่วนหนึ่งของวังหลัง ซึ่งร้างอยู่ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 มาเป็นที่สร้างโรงพยาบาลแห่งแรก

พ.ศ. 2430, 31 พฤษภาคม :

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์เมื่อเสร็จการพระเมรุ แล้วพระราชทานสิ่งของทั้งปวงในงานพระเมรุ พร้อมทั้งเงินพระมรดกของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ จำนวน 700 ชั่ง (56,000 บาท) ให้โรงพยาบาล

พ.ศ. 2431, 26 เมษายน:

เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาล

พ.ศ. 2431, 31 ธันวาคม :

พระราช ทานนามโรงพยาบาลว่า “โรงศิริราชพยาบาล”

พ.ศ. 2432, มีนาคม :

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้น

พ.ศ. 2432, พฤษภาคม :

เปิดโรงเรียนแพทย์ขึ้น ณ โรงศิริราชพยาบาล รับนักเรียนซึ่งมีพื้นความรู้อ่านออกเขียนได้ ใช้เวลาเรียน 3 ปี จบแล้วได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ ซึ่งนักเรียนแพทย์รุ่นแรก มี 15 คน

พ.ศ. 2434, 1 มกราคม :

นายแพทย์ยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ เข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนนักเรียนแพทย์

พ.ศ. 2435 :

นักเรียนแพทย์รุ่นแรกสำเร็จการศึกษา มีจำนวน 9 คน

พ.ศ. 2436, 31 พฤษภาคม :

ตั้งชื่อโรงเรียนแพทย์ว่า “โรงเรียนแพทยากร”

พ.ศ. 2439 :

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลขึ้น ในบริเวณโรงศิริราชพยาบาล นับเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย

พ.ศ. 2440 :

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภา ผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกเรียน และเรือนพักนักเรียนแพทย์ขึ้นใหม่

พ.ศ. 2443, 3 มกราคม :

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกโรงเรียนแพทย์ และพระราชทานนามโรงเรียนแพทยากรใหม่ว่า โรงเรียนราชแพทยาลัย ในโอกาสนั้นโปรดเกล้าฯ พระราชทานประกาศนียบัตรให้แพทย์ รุ่นที่ 8 จำนวน 9 คน และพยาบาลรุ่นแรก จำนวน 10 คนด้วย

พ.ศ. 2445 :

นายแพทย์ ยอร์ซ บี แมคฟาร์แลนด์ (ศาสตราจารย์พระอาจวิทยาคม) เป็นผู้อำนวยการทั้งฝ่ายโรงพยาบาล และฝ่ายโรงเรียนแพทย์

พ.ศ. 2446 :

ขยายหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตร เป็น 4 ปี

พ.ศ. 2456 :

พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา ชัยนาท – นเรนทร) ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ โปรดให้ปรับปรุงการศึกษาแพทย์ โดยเพิ่มวิชาทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และขยายหลักสูตรแพทย์ เป็น 5 ปี และรับนักเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6

พ.ศ. 2458 :

พระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้า เจ้าอยุ่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาท นเรนทร เป็นผู้บัญชาการราชแพทยาลัย เลิกการสอน วิชาแพทย์ไทย ในหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตร เปิดสอน ประกาศนียบัตร แพทย์ปรุงยา (เภสัชศาสตร์) หลักสูตร 3 ปี

พ.ศ. 2459, 26 มีนาคม :

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็น “จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย”

พ.ศ. 2460, 6 เมษายน :

รวมโรงเรียนราชแพทยาลัย เป็น “คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล”

พ.ศ. 2461 :

ขยายหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตร เป็น 6 ปี โดย 4 ปีแรกเรียนวิชาเตรียมแพทย์และปรีคลินิกที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และ 2 ปีหลัง เรียนวิชาคลินิกที่ศิริราช

พ.ศ. 2462:

ศาสตราจารย์ เอ จี . เอลลิส เข้ามาเป็นอาจารย์สอนพยาธิวิทยาเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2464:

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ รับพระบรมราชโองการทำจดหมายถึงมูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเลอร์ ขอให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการศึกษาแพทย์ มูลนิธิฯ ส่งนายแพทย์ ริชาร์ด เอม เพียร์ส ประธานกรรมการฝ่ายแพทยศาสตร์ศึกษาเข้ามาดูกิจการของการศึกษาแพทย์ในประเทศไทย ในการเจรจากับกระทรวงธรรมการ ได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงรับภาระเป็นผู้แทนฝ่ายไทยในที่สุดได้ตกลงกันในหลักการ ดังนี้
1. ขยายหลักสูตรแพทย์เป็นระดับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต
2. ย้ายปรีคลินิกกลับมา ศิริราช
3. มูลนิธิฯ ส่งศาสตราจารย์เข้ามาช่วยวางหลักสูตร และจัดการเรียนการสอน
4. ให้ทุนแก่อาจารย์ไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศ
5. จัดสร้างอาคารโรงพยาบาลศิริราชโดยออกเงินฝ่ายละครึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้สร้างตึก 2 หลัง พระราชทานทุนให้แพทย์ไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศอีกจำนวนมาก และในบางระยะยังทรงเป็นพระอาจารย์สอนนิสิตแพทย์ด้วย

พ.ศ. 2466 :

รับนิสิตเตรียมแพทย์ปริญญารุ่นแรกจากนักเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ต่อมา มูลนิธิฯ ได้ขยายความช่วยเหลือไปถึงโรงเรียนพยาบาล และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้วย

พ.ศ. 2471 :

แพทย์ปริญญารุ่นแรกสำเร็จการศึกษา

พ.ศ.2472, 24 กันยายน :

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ สิ้นพระชนม์โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระราชอิสริยศักดิ์ เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิง นิสิตแพทย์ได้รับเกียรติฯให้อัญเชิญเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในริ้วขบวนด้วย

พ.ศ.2473, 25 ตุลาคม :

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต ให้แพทย์ปริญญารุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ณ ห้องประชุมตึกอักษรศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกันนั้นได้พระราชทานเหรียญรางวัลให้ผู้ที่ได้คะแนนเป็นเยี่ยมด้วย

พ.ศ. 2475 :

ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาแพทยศาสตรดุษฏีบัณฑิต 1 คน และแพทย์หญิงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตในปีนี้ 3 คน

พ.ศ 2486, 7 กุมภาพันธ์

ได้สถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยแยก คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล, คณะทันตแพทยศาสตร์, คณะเภสัชศาสตร์, คณะสัตวแพทยศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อยู่ในสังกัดกระทรวงการสาธารณสุข

พ.ศ. 2491, 25 พฤษภาคม :

จัดตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ ตามพระราชกฤษฏีกาจัดวางระเบียบราชการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2491 และจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

พ.ศ. 2493, 3 เมษายน :

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2492-2493 นับเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน

พ.ศ. 2498 :

โอนคณะสัตวแพทยศาสตร์ ไปสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. 2499 :

จัดการเปิดสอนเตรียมเภสัชในคณะเภสัชศาสตร์ และจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ขึ้น ทำหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ เพื่อการเรียนการสอนสำหรับผลิตนักเทคนิคการแพทย์ และเพื่อบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้แก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

พ.ศ. 2500 :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

พ.ศ. 2502, 28 ตุลาคม :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ มีหน้าที่จัดการศึกษาฝ่ายแพทยศาสตร์ และฝ่ายวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย (จากราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 เล่มที่ 6 ตอนที่ 102)

พ.ศ. 2503, 28 มีนาคม :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจัดตั้ง คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน (ปัจจุบันเป็นคณะเวชศาสตร์เขตร้อน) และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ปัจจุบันเป็นคณะวิทยาศาสตร์) ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยที่สมควรอบรมความรู้เรื่องอายุรศาสตร์เขตร้อนโดยละเอียดแก่บรรดาแพทย์ทั้งหลาย ตลอดจนทำการศึกษาวิจัย เพื่อความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคเขตร้อนแห่งประเทศไทย และปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาขั้นเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และให้มีการศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์ในขั้นปริญญาตรี โท และ เอก ขึ้น (จากราชกิจจานุเบกษา 5 เมษายน พ.ศ. 2503 ตอนที่ 28 เล่ม 77)หลังจากมีการจัดตั้งคณะทั้งสองข้างต้นแล้วยังได้ตราพระราชกฤษฏีกา จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ขึ้นแทนคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่าโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งจำเป็นต้องมีโรงพยาบาลเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ใช้เป็นที่ฝึกฝนอบรม จึงได้โอนโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ของกรมการแพทย์มาสังกัดคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ และเปลี่ยนชื่อคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่เป็นคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่

พ.ศ. 2503, 3 กันยายน :

โอนมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไปสังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี

พ.ศ. 2504 :

เริ่มระบบแพทย์ฝึกหัด โดยบังคับแพทย์ที่จบใหม่ต้องไปฝึกหัดในโรงพยาบาลที่ทางการรับรองเป็นเวลา 1 ปี จึงจะขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลปแผนปัจจุบันได้ ระหว่างฝึกหัดได้รับเงินเดือนและได้รับสวัสดิการด้านที่พักอาศัยและอาหาร

พ.ศ. 2505, 28 มีนาคม :

ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 77 อนุมัติจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยเป็นคณะ ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยแบ่งเป็น 3 แผนก วิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก มีคณะกรรมการบัณฑิตวิทยาลัยคณะหนึ่งประกอบด้วย อธิการบดีเป็นประธาน คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยเป็นรองประธาน เลขาธิการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และหัวหน้าแผนกวิชาคณะนี้เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 10 คน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี และมีเลขานุการคณะเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนี้มีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารงานเกี่ยวกับการจัดการศึกษาภายหลังขั้นปริญญาบัณฑิต

พ.ศ. 2507, 14 มกราคม:

มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2507 โดยมาตรา 6 ทวิ ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีอำนาจจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย หรือสถาบันวิชาการชั้นสูง เพื่อการศึกษาหรือการวิจัยขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทย์ (ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 มกราคม 2507 เล่มที่ 81 ตอนที่ 7)

พ.ศ. 2507, 4 กุมภาพันธ์ :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแพทย์ ช่วยเหลือ ปรับปรุงคุณวุฒิ และสมรรถภาพของแพทย์ รวมทั้งเภสัชกร ทันตแพทย์ ให้มีความรู้เหมาะสมกับสมัยและช่วยวิจัยปัญหาการแพทย์การสาธารณสุข

พ.ศ. 2508, 27 กรกฏาคม :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง เพื่อผลิตแพทย์ อาจารย์ พยาบาล ผดุงครรภ์อนามัย และพนักงานวิทยาศาสตร์ ตลอดจนบริการประชาชน ผู้ป่วยไข้ (จากราชกิจจานุเบกษา 3 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เล่ม 82 ตอนที่ 61 หน้า 604) และ โอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไปสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2511, 7 มิถุนายน :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ ว่าโดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ พญาไท และคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นใหม่อีก 2 คณะ โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ พญาไท มีหน้าที่จัดการศึกษาด้าน ทันตแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มีหน้าที่จัดการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์

พ.ศ. 2512 :

โอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเปลี่ยนชื่อคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นคณะวิทยาศาสตร์

ยุคมหาวิทยาลัยมหิดล

พ.ศ. 2512, 21 กุมภาพันธ์ :

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ โดยจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เรียกว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล” มีขอบเขตดำเนินงานกว้างขวางยิ่งขึ้น ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2512 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “มหิดล” อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นชื่อมหาวิทยาลัยแทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เดิม (จากราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 มีนาคม 2512 เล่มที่ 86 ตอนที่ 17)

พ.ศ. 2512, 14 ธันวาคม :

ตั้งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (จากราชกิจจานุเบกษา 13 มกราคม พ.ศ. 2513 เล่ม 87 ตอนที่ 3 หน้า 34)

พ.ศ. 2513, 27 มีนาคม :

ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 5 นายกสภามหาวิทยาลัย ได้แจ้งให้ทราบว่าตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 2 วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2512 ให้อัญเชิญสมเด็จพระราชชนนีฯ ดำรงตำแหน่งกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ทรงรับเชิญแล้วโดยมี นาย สัญญา ธรรมศักดิ์ และนายพจน์ สารสิน เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการอีกจำนวนประมาณ 35 คน และได้มีการประชุมครั้งแรก ณ วังสระประทุม เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2513 ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องมหาวิทยาลัยมหิดลขอซื้อที่ดิน 1,241 ไร่เศษ ที่ อ.ศาลายา จังหวัดนครปฐม ระยะทาง 21 ก.ม. จากวงเวียนใหญ่ ธนบุรี เลี้ยวขวาเข้าสาย 4 ผ่านบริเวณพุทธมณฑลเข้าไปอีก 6 ก.ม. ด้านเหนือจดถนนไปอำเภอนครชัยศรีขนานกับทางรถไฟตรงสถานีศาลายาด้านใต้ติดกับบริเวณพุทธมณฑล ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้ขอซื้อ เพื่อขยายกิจการของมหาวิทยาลัยมหิดลจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เห็นชอบตามอาณาเขตดังกล่าว

พ.ศ. 2514, 18 มกราคม :

ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 7 ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าคณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบกับข้อเสนอของประธานกรรมการบริหารพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่ว่าเห็นชอบด้วยในการจัดซื้อที่ดิน ที่ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม สำหรับโครงการขยายการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนการก่อสร้าง หรือโครงการที่จะดำเนินการในสถานที่ใหม่นี้ ให้มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ พิจารณาภายในกรอบของแผนพัฒนาการฯ ฉบับที่ 3 และขอให้สำนักงบประมาณ พิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรเงินงบประมาณ ในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป ส่วนในเรื่องการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน และการชำระเงินงวดแรก ขอให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานงบประมาณ ร่วมกันเจรจาทำความตกลง กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต่อไป
สำหรับคณะกรรมการที่ได้ตั้งขึ้นเพื่อจัดทำแผนหลักได้ประชุมกันหลายครั้ง และสรุปความเห็นของที่ประชุมได้ดังต่อไปนี้คือ
1. แผนหลักที่ศาลายา ควรทำเป็นแผนที่สมบูรณ์ระยะ 20 ปี โดยกำหนดความสำคัญของโครงการ และระยะเวลาไว้การดำเนินการจะเลือกดำเนินการตามความเหมาะสม
2. โครงการที่ควรดำเนินการในขั้นต้น คือ
จัดให้จัดการศึกษาปี 1 – 2 ของทุกคณะไปศึกษาที่ศาลายาให้มากที่สุด
เพิ่มการรับนักศึกษา โดยมีนโยบายเน้นหนักไปในทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการบริหารจัดการการศึกษาและอื่นๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบในอนาคต
ควรให้คณะวิทยาศาสตร์ขยายจำนวนนักศึกษาวิทยาศาสตร์ และขยายการผลิตอาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาวิชาต่างๆ เช่น ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา ฯลฯ ได้มากขึ้น
ควรให้คณะต่างๆ ซึ่งมีบริเวณคับแคบมีโอกาสปรับปรุงขยายสถานที่ เช่น คณะเทคนิคการแพทย์ และโรงเรียนพยาบาลศิริราชฯ เป็นต้น
โครงการก่อตั้งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จะดำเนินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ต่อไปอาจขยายการผลิตผู้ที่มีความรู้ระดับกลาง ซึ่งประเทศกำลังขาดแคลนอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาจารย์และอุปกรณ์เหมาะสม

พ.ศ. 2514, 17 กุมภาพันธ์ :

ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ดำเนินการ ขายโอนที่ดินที่ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ 1,242 ไร่ 20 ตารางวา ขายให้มหาวิทยาลัย ใช้เป็นพื้นที่ขยายกิจการ พระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นพระราชปณิธานสืบเนื่อง เพื่อให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถเริ่มดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งได้ในเวลาอันรวดเร็ว

พ.ศ. 2514, 14 พฤศจิกายน :

จัดตั้งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (จากราชกิจจานุเบกษา 7 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เล่ม 88 ตอนที่ 136 หน้า 810)

พ.ศ. 2515, 13 เมษายน :

ได้มีคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 121 ประกาศให้ โอนคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะที่ 1 และคณะเภสัชศาสตร์ คณะที่ 1 ไปสังกัดเป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515

พ.ศ. 2515 :

โอนมหาวิทยาลัยมหิดล จากสำนักนายกรัฐมนตรีไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ

พ.ศ. 2515, 23 มิถุนายน :

ยกฐานะโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ที่จัดตั้ง ในปี พ.ศ. 2439 เป็นคณะพยาบาลศาสตร์ (จากราชกิจจานุเบกษา 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 เล่ม 89 ตอนที่ 103 ฉบับพิเศษ หน้า 16 ประกาศ ณ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2515)

พ.ศ. 2515, 15 พฤศจิกายน :

ที่ประชุมเห็นชอบกับแผนและการคำนวณโครงการศาลายาของมหาวิทยาลัยมหิดล ตามที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ สกุลไทย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาเสนอ

พ.ศ. 2516 :

ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ อนุมัติให้ตัดคำว่า “พญาไท” ท้ายคำของคณะทันตแพทย์ศาสตร์พญาไท และคณะเภสัชศาสตร์พญาไท

พ.ศ. 2518, 28 สิงหาคม :

มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งโฉนดที่ดินตำบลศาลายาขึ้นทะเบียนราชพัสดุ

พ.ศ. 2519 :

เริ่มดำเนินการก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา โดยมีปัญหาในการดำเนินการ เช่น การจำกัดของงบประมาณ ระยะเวลาของการก่อสร้างอยู่ในสมัยซึ่งประเทศชาติมีความยุ่งยากทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมหลายประการ ราคาน้ำมันขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบถึงราคาวัสดุก่อสร้าง และค่าแรงงานเพิ่มสูงขึ้นด้วย เกิดการขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง ขาดแคลนช่างฝีมือ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยมหิดลเองก็มีปัญหาในการดำรงความมุ่งหมาย และนโยบาย เพราะใช้เวลาวางแผนและดำเนินการต่อเนื่องนานนับสิบปี

พ.ศ. 2520, 13 มกราคม :

จัดตั้งสถาบันวิจัยโภชนาการ โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแบ่งส่วนราชการ และภาควิชาในมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2520) ประกาศ ณ วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2520 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี (จากราชกิจจานุเบกษา 25 มกราคม พ.ศ. 2520 เล่ม 94 ตอนที่ 8 หน้า 23)

พ.ศ. 2520, 2 กุมภาพันธ์ :

ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 38 ศาสตราจารย์ณัฐ ภมรประวัติ รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาและวางแผนได้แถลงการดำเนินงาน และความคืบหน้าของโครงการศาลายา จากนั้นได้มีการตั้งกรรมการดำเนินงานขึ้น 1 ชุด โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและวางแผน เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าวได้จัดวางแผนผังหลัก และได้เริ่มการดำเนินงานในระยะแรกเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2517

พ.ศ. 2521, 30 มกราคม :

ยกฐานะโครงการการศึกษาและวิจัยสิ่งแวดล้อมที่จัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2516 เป็นคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแบ่งส่วนราชการและภาควิชาในมหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศ ณ วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2521 (จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95 ตอนที่ 18 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521)

พ.ศ. 2523 :

มหาวิทยาลัยมหิดลมีหนังสือถึงกรมธนารักษ์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้จัดหาที่ดินราชพัสดุที่อยู่ใกล้บริเวณที่ตั้งของหน่วยงานทั้ง 3 เขตของมหาวิทยาลัย และมีพื้นที่เพียงพอเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย และหลังจากนั้น 3 สัปดาห์ กรมธนารักษ์ แจ้งอนุญาตให้มหาวิทยาลัยใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุ ที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

พ.ศ. 2524, 30 พฤศจิกายน :

มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนในการพัฒนาความรู้ ความสามารถของอาจารย์ และนักวิชาการในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามประกาศแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ 2 ของทบวงมหาวิทยาลัย (พระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 205 ฉบับพิเศษหน้า 13)

พ.ศ. 2526, 23 กรกฎาคม :

สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา โดยระยะแรกมีหน่วยงานที่ได้เข้าไปปฏิบัติงานตามลำดับดังนี้
สำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ (เดิมชื่อโครงการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ) ตั้งแต่สิงหาคม พ.ศ. 2521
ศูนย์ศาลายา (เติมชื่อโครงการศูนย์ศาลายา) ตั้งแต่พฤษภาคม พ.ศ. 2523
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตั้งแต่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2524
คณะวิทยาศาสตร์ (ในส่วนที่รับผิดชอบการเรียนของนักศึกษาปีที่ 1) ตั้งแต่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2525
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ตั้งแต่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2526
สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานอาเซียน (เดิมชื่อศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานแห่งอาเชียน) ตั้งแต่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2526

พ.ศ. 2526, 21 พฤศจิกายน :

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ย้ายสำนักงานจากตึกอำนวยการ ชั้น 2 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ไปปฏิบัติงานในสำนักงานใหม่ของสถาบันที่ศาลายา ตั้งแต่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526

พ.ศ. 2527, มีนาคม :

สถาบันวิจัยโภชนาการ ย้ายสำนักงานจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ไปปฏิบัติงานในสำนักงานใหม่ของสถาบันที่ศาลายา ตั้งแต่ มีนาคม พ.ศ. 2527

พ.ศ. 2528 :

แพทย์รุ่นที่จบการศึกษา 2527 รับปริญญาปี 2528 เป็นรุ่นแรกที่เรียนภายใน 6 ปี โดยรวมแพทย์ฝึกหัดไปด้วย ฉะนั้นจึงไม่ต้องไปเป็นแพทย์ฝึกหัดอีก 1 ปี

พ.ศ. 2528, 11 กรกฏาคม :

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงสำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ จากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต นับว่าทรงเป็นเจ้าฟ้าพระองค์ แรกที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล

พ.ศ. 2529, 14 กุมภาพันธ์ :

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน ในพิธียกเสาเอกเรือนไทย “ศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเอเซียอาคเนย์” นับเป็นศิริมงคลแก่หน่วยงานนี้เป็นอย่างยิ่ง ทางมหาวิทยาลัยได้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างอาคารเป็นเงินทั้งสิ้น 9 ล้านบาท โดยทางคุณระเบียบ คุณเกษม เป็นผู้บริจาคให้ 5 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยสมทบให้อีก 4 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2530 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราช ดำเนินทรงเปิดเรือนไทยดังกล่าว

พ.ศ. 2529, 4 สิงหาคม :

ยกฐานะกองห้องสมุด ที่จัดตั้งเป็น กองสังกัดสำนักงานอธิการบดี เมื่อปี พ.ศ. 2519 ให้เป็นสำนักหอสมุด และยกฐานะโครงการศูนย์คอมพิวเตอร์ ที่จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2523 โดยสังกัดสำนักงานอธิการบดี ให้เป็นสำนักคอมพิวเตอร์ตามลำดับ (จากราชกิจจานุเบกษา 8 สิงหาคม พ.ศ. 2529 เล่ม 103 ตอนที่ 140 ฉบับพิเศษ หน้า 20)

พ.ศ. 2530, 15 กันยายน :

ยกฐานะโครงการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นสำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 104 ตอนที่ 191 ฉบับพิเศษ หน้า 13 – 14)

พ.ศ. 2530, 11 พฤศจิกายน :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2503 โดยยกเลิกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2512 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 197 ลงวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2515(ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 เล่ม 104 ตอนที่ 229)

พ.ศ. 2531, 18 กรกฎาคม :

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารสำนักงานมหาวิทยาลัยมหิดล เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี และมหาวิทยาลัยได้ย้ายสำนักงานอธิการบดีบัณฑิตวิทยาลัย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ มาทำการ ณ อาคารใหม่

พ.ศ. 2531, 6 ตุลาคม :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียนมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2531 มหาวิทยาลัยจึงได้ยกฐานะศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามโครงการความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่น ตั้งแต่ พ.ศ.2525 ขึ้นเป็นสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน เพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทางด้านส่งเสริมสนับสนุน ดำเนินงานวิจัยและให้บริการด้านการเรียน การสอน เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีตลอดจน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางด้านสาธารณสุขมูลฐานของประเทศ ในกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านการเรียนการสอน และการวิจัย และความรู้ ทางด้านสาธารณสุขมูลฐาน ระหว่างกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นผลดีแก่ประเทศ ผู้เป็นสมาชิกด้วยกันและเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น (ราชกิจจานุเบกษา 11 ตุลาคม 2531 เล่ม 105 ตอนที่ 164 ฉบับพิเศษ หน้า 1 – 3)

พ.ศ. 2532, 4 ธันวาคม :

โครงการการศึกษาปริญญาตรี สำหรับนักศึกษานานาชาติ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน สำหรับนักศึกษานานาชาติ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

พ.ศ. 2532, 18 ธันวาคม :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งศูนย์ศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2532 การขยายพื้นที่ทำการของมหาวิทยาลัย ไปยังตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โครงการศูนย์ศาลายา ซึ่งจัดตั้งเป็นการภายในตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบการก่อสร้างมหาวิทยาลัยในพื้นที่ดังกล่าว การประกาศจัดตั้งศูนย์ศาลายา ขึ้นในมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการยกฐานะโครงการศูนย์ศาลายา ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประสานงานด้านการจัดการศึกษาวิชาพื้นฐาน สำหรับนักศึกษาทุกคณะในชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 ซึ่งเรียนร่วมกันในพื้นที่ดังกล่าว และเป็นหน่วยงานบริหาร และให้บริการในด้านต่าง ๆ รวมทั้งทำหน้าที่ประสานงานเรื่องการจัดการศึกษาต่อเนื่องในลักษณะสหสาขาวิชา (ราชกิจจานุเบกษา 25 ธันวาคม 2532 เล่ม 106 ตอนที่ 227 ฉบับพิเศษ หน้า 1 – 3)

พ.ศ. 2533, 20 มีนาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญสม มาร์ติน ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 15 คน (จากราชกิจจานุเบกษา 22 มีนาคม 2533 เล่ม 107 ตอนที่ 46 หน้า 2257 – 2259 )

พ.ศ. 2533, 18 สิงหาคม :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2533 โดยจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นเพื่อ ผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งช่วยลดสภาวะขาดแคลนบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และสนองนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ที่มีโครงสร้างปัจจัยพื้นฐานศักยภาพขีดความสามารถและ ความพร้อมเปิดสอนสาขาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ (จากราชกิจจานุเบกษา 29 สิงหาคม 2533 เล่ม 107 ตอนที่ 158 ฉบับพิเศษ หน้า 23 -25)

พ.ศ. 2534, 9 ธันวาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (จากราชกิจจานุเบกษา 21 พฤศจิกายน 2534 เล่ม 108 ตอนที่ 202 หน้า 11738)

พ.ศ. 2535, 21 มีนาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 15 คน (จากราชกิจจานุเบกษา 9 เมษายน 2535 เล่ม 109 ตอนที่ 48 หน้า 4145-4146)

พ.ศ. 2536, 11 มีนาคม :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งวิทยาลัยราชสุดาขึ้นในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดการศึกษาในระดับปริญญาและฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่ผู้พิการทางกายภาพตลอดจนทำการวิจัย เพื่อนำผลมาประยุกต์ในการพัฒนาช่วยเหลือคนพิการ (จากราชกิจจานุเบกษา 25 มีนาคม 2536 เล่ม 110 ตอน 35 หน้า 5- 6)

พ.ศ. 2536, 30 เมษายน :

มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยให้รับวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครเข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 เป็นต้นไป (จากราชกิจจานุเบกษา 14 พฤษภาคม 2536 เล่ม 110 ตอนที่ 63 หน้าพิเศษ 12)

พ.ศ. 2536, 3 พฤษภาคม :

มีประกาศข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดลว่าด้วยเครื่องแบบนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล โดยกำหนดให้มีเครื่องแบบพิธีการ และเครื่องแบบปกติทั้งนักศึกษาชายและนักศึกษาหญิง (จากราชกิจจานุเบกษา ๑ มิถุนายน 2536 เล่ม 110 ตอนที่ 71 หน้า 4-5 )

พ.ศ. 2536, 5 มิถุนายน :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกฤษฏีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชาอักษรย่อ สำหรับสาขาวิชา คุรยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะ ของมหาวิทยาลัยมหิดล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2536 เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดสอนสาขาวิชาประชากรศาสตร์ในระดับปริญญาเอก สาขาพยาบาลศาสตร์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขามนุษยศาสตร์ในระดับปริญญาเอก และสาขาอายุรศาสตร์เขตร้อนคลินิกในระดับปริญญาโท เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฏีกานี้ (จากราชกิจจานุเบกษา 18 มิถุนายน 2536 เล่ม 110 ตอนที่ 79 ฉบับพิเศษ หน้า 1 – 4)

พ.ศ. 2537, 21 มีนาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 15 คน (จากราชกิจจานุเบกษา 23 มีนาคม 2537 เล่ม 111 ตอนพิเศษ 16 ง หน้า 2 – 3)

พ.ศ. 2537, 21 กันยายน :

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้จัดตั้งขึ้น โดยมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อที่จะให้เป็นแหล่งผลิตนักเรียน นักศึกษา นักดนตรีที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีความสำนึกต่อสังคม

พ.ศ. 2537, 9 พฤศจิกายน :

มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยให้รับวิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ กรมแพทย์ทหารเรือ กระทรวงกลาโหม เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 เป็นต้นไป (จากราชกิจจานุเบกษา 21 พฤศจิกายน 2537 เล่ม 111 ตอนพิเศษ 55 ง หน้า 23)

พ.ศ. 2537, 9 พฤศจิกายน :

มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยให้รับวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ กรุงเทพมหานคร เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 เป็นต้นไป (จากราชกิจจานุเบกษา 21 พฤศจิกายน 2537 เล่ม 111 ตอนพิเศษ 55 ง หน้า 24)

พ.ศ. 2537, 16 พฤศจิกายน :

มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยให้รับวิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ กองทัพอากาศ กระทรวงกลาโหม เข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 เป็นต้นไป (จากราชกิจจานุเบกษา 1 ธันวาคม 2537 เล่ม 111 ตอนพิเศษ 56 ง หน้า 19)

พ.ศ. 2538, 17 กรกฏาคม :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศ พระราชกฤษฏีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ.2538 โดยเป็นการสมควรปรับปรุงการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดลเสียใหม่ เพื่อรวมการจัดตั้งส่วนราชการที่มีอยู่ในปัจจุบันให้อยู่ในกฏหมายฉบับเดียวกัน อันประกอบไปด้วย 1 สำนักงาน 13 คณะ 1 วิทยาลัย 5 สถาบัน 1 ศูนย์ 3 สำนัก (จากราชกิจจานุเบกษา 14 สิงหาคม 2538 เล่ม 112 ตอนที่ 33 ก หน้า 19 )

พ.ศ. 2538, 29 กันยายน :

มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่องการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2538 (จากราชกิจจานุเบกษา 24 ตุลาคม 2538 เล่ม 112 ตอนที่ 85 ง หน้า 18 – 29 )

พ.ศ. 2538, 23 พฤศจิกายน :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาขึ้นในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นศูนย์กลางในการตรวจสอบ ควบคุม และป้องกันการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬาที่ได้มาตรฐานและได้รับการรองรับมาตรฐานจากคณะกรรมการโอลิมปิคสากล สามารถให้บริการตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาให้แก่นักกีฬาของชาติต่างๆ ในภูมิภาคได้ รวมทั้งเป็นศูนย์ทางวิชาการเกี่ยวกับสารต้องห้ามในนักกีฬาด้วย (จากราชกิจจานุเบกษา 28 พฤศจิกายน 2538 เล่ม 112 ตอนที่ 48 ก หน้า 4 – 5)

พ.ศ. 2538, 9 ธันวาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ระดับ 11 ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (จากราชกิจจานุเบกษา 30 พฤศจิกายน 2538 เล่ม 112 ตอนที่ 96 ง หน้า 2)

พ.ศ. 2539, 27 มิถุนายน :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อที่จะพัฒนาและส่งเสริมการกีฬา ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการออกกำลังกาย การรักษาสุขภาพพลานามัย และการนันทนาการแก่ประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้งเป็นศูนย์ทางวิชาการในด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการให้บริการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา (จากราชกิจจานุเบกษา 5 กรกฏาคม 2539 เล่ม 113 ตอนที่ 25 ก หน้า 8 – 9 )

พ.ศ. 2540, 1 มกราคม :

ศูนย์ศาสนศึกษา จัดตั้งขึ้นในสังกัดสำนักงานอธิการบดี เพื่อผลิตบัณฑิตสำหรับเป็นครู อาจารย์ สอนวิชาพุทธศาสนา และ/หรือศาสนาอื่นๆ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา และเพื่อให้ศาสนิกชนมีโอกาสได้ศึกษาศาสนาที่นับถืออยู่อย่างลึกซึ้งควบคู่ไปกับวิทยาการสมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

พ.ศ. 2540, 27 มิถุนายน :

มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยให้รับวิทยาลัยพยาบาล ในสังกัดสถาบัน พระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 9 แห่ง อันได้แก่
1. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนี กรุงเทพ
2. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนี จักรีรัช
3. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนี ชัยนาท
4. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนี พระพุทธบาท
5. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนี ราชบุรี
6. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนี ศรีธัญญา
7. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนี สระบุรี
8. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนี สุพรรณบุรี
9. วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
เข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539 เป็นต้นไป (จากราชกิจจานุเบกษา 30 มิถุนายน 2540 เล่ม 114 ตอนพิเศษ 54 ง หน้า 15)

พ.ศ. 2540, 15 กันยายน :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ ขึ้นในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นแหล่งผลิต วิจัย พัฒนาและเป็นหน่วยงานกลางทางวิชาการสำหรับส่งเสริมสนับสนุนงานด้านสัตวแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัว และด้านอณูชีววิทยา อณูพันธุศาสตร์ และพันธุศาสตร์ (จากราชกิจจานุเบกษา 2 ตุลาคม 2540 เล่ม 114 ตอนที่ 52 ก หน้า 5 – 7 )

พ.ศ. 2540, 29 กันยายน :

คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ให้มหาวิทยาลัยมหิดลรับภารกิจในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรี ในโครงการขยายการศึกษาขั้นอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาค มหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งโครงการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรี ขึ้นในสังกัดสำนักงานอธิการบดี

พ.ศ. 2540, 17 ธันวาคม :

สภามหาวิทยาลัยมหิดลอนุมัติให้จัดตั้งวิทยาลัยการจัดการ ขึ้นเป็นหน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัยมหิดล

พ.ศ. 2541, 3 กุมภาพันธ์ :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 โดยที่เห็นสมควรกำหนดให้มหาวิทยาลัยสามารถนำรายได้ของมหาวิทยาลัยไปใช้ในกิจการของมหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และให้มหาวิทยาลัยมีกรรมสิทธิ์ในอหังสาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมีผู้อุทิศให้หรือได้มาโดยการซื้อหรือแลกเปลี่ยนจากรายได้ของมหาวิทยาลัย โดยไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อความคล่อตัวในการบริหารกิจการของมหาวิทยาลัยและการจัดหาประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของมหาวิทยาลัยหรือที่มหาวิทยาลัยนปกครอง ดูแล หรือใช้ประโยชน์ (จากราชกิจจานุเบกษา 17 กุมภาพันธ์ 2541 เล่ม 115 ตอนที่ 6 ก หน้า 15 – 17)

พ.ศ. 2541, 21 มีนาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 15 คน (จากราชกิจจานุเบกษา 20 เมษายน 2541 เล่ม 115 ตอนพิเศษ 29 ง หน้า 11-13)

พ.ศ. 2541, 14 ตุลาคม :

มีคำสั่งบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ให้จัดตั้งโครงการจัดตั้งสำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม (จากหนังสือคำสั่งบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ 3201/2541 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2541)

พ.ศ. 2542, 19 กุมภาพันธ์ :

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงประทานพระวินิจฉัยให้ “ต้นกันภัยมหิดล” เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล (จากหนังสือสำนักงานเลขานุการในพระองค์ฯ ที่ 081/303/2542 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2542)

พ.ศ. 2542, 9 มิถุนายน :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกฤษฏีกาว่าด้วยปริญญาใน สาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา คุรยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะ ของมหาวิทยาลัยมหิดล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2542 เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดสอนสาขาวิชาเทคโนโลยีในระดับปริญญาตรี และสาขาสัตวแพทยศาสตร์ในระดับปริญญาตรีและปริญญาเอกเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฏีกานี้ (จากราชกิจจานุเบกษา 21 มิถุนายน 2542 เล่ม 116 ตอนที่ 50 ก หน้า 1 – 5)

พ.ศ. 2542, 21 กรกฏาคม :

สภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 306 มีมติเห็นสมควรให้จัดตั้งโครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ ขึ้นในสังกัดสำนักงานอธิการบดี

พ.ศ. 2542, 15 กรกฏาคม :

มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยให้รับวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดชลบุรี ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปีการศึกษา 2540 เป็นต้นไป (จากราชกิจจานุเบกษา 19 สิงหาคม 2542 เล่ม 116 ตอนที่ 66 ง หน้า 26)

พ.ศ. 2542, 23 กรกฏาคม :

มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยให้รับสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยมหิดลโดยให้โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา รับผิดชอบตั้งแต่ปีการศึกษา 2540 เป็นต้นไป และโรงพยาบาลสวรรคประชารักษ์ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลราชบุรี รับผิดชอบตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 เป็นต้นไป (จากราชกิจจานุเบกษา 14 กันยายน 2542 เล่ม 116 ตอนที่ 73 ง หน้า 15)

พ.ศ. 2542, 9 ธันวาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (จากราชกิจจานุเบกษา 7 ธันวาคม 2542 เล่ม 116 ตอนที่ 97 ง หน้า 1)

พ.ศ. 2543, 21 มีนาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลอีก พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 15 คน (จากราชกิจจานุเบกษา 20 เมษายน 2543 เล่ม 117 ตอนที่ 32 ง หน้า 1-2)

พ.ศ. 2544, 12 กรกฏาคม :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกฤษฏีกาว่าด้วยปริญญาใน สาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา คุรยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะ ของมหาวิทยาลัยมหิดล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2544 เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดสอนสาขาวิชาการจัดการเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฏีกานี้ (จากราชกิจจานุเบกษา 24 กรกฏาคม 2544 เล่ม 118 ตอนที่ 60 ก หน้า 9 – 13)

พ.ศ. 2545, 21 มีนาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 15 คน (จากราชกิจจานุเบกษา 11 มิถุนายน 2545 เล่ม 119 ตอนที่ 47 ง หน้า 7-8)

พ.ศ. 2545, 2 เมษายน :

คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2539 และวันที่ 1820 กันยายน 2544 ให้มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการจัดตั้งวิทยาเขตสารสนเทศ ที่จังหวัดนครสวรรค์ ในโครงการขยายการศึกษาขั้นอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาค มหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งโครงการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ ขึ้นในสังกัดสำนักงานอธิการบดี

พ.ศ. 2545, 21 สิงหาคม :

สภามหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุม ครั้งที่ 361 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2545 เห็นชอบให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งโครงการสถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ขึ้นในกำกับมหาวิทยาลัยมหิดล

พ.ศ. 2546, 9 ธันวาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไปอีกวาระหนึ่ง (จากราชกิจจานุเบกษา 16 ธันวาคม 2546 เล่ม 120 ตอนที่ 102 ง หน้า 12)

พ.ศ. 2546, 17 ธันวาคม :

สภามหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุม ครั้งที่ 359 พิจารณาอนุมัติให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งโครงการจัดตั้ง คณะศิลปศาสตร์ ขึ้นในกำกับมหาวิทยาลัยมหิดล

พ.ศ. 2547, 21 มีนาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 15 คน (จากราชกิจจานุเบกษา 25 พฤษภาคม 2547 เล่ม 121 ตอนที่ 42 ง หน้า 6-7)

พ.ศ. 2547, 1 พฤศจิกายน :

มีคำสั่งมหาวิทยาลัยมหิดล ให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล” ขึ้นในสังกัดสำนักงานอธิการบดี (จากหนังสือคำสั่งมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ 2137/2547 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2547)

พ.ศ. 2548, 4 ตุลาคม :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกฤษฏีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา คุรยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะ ของมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2548 เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดสอนสาขาวิชาการบัญชีและสาขาวิชาบริหารธุรกิจเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฏีกานี้ (จากราชกิจจานุเบกษา 25 ตุลาคม 2548 เล่ม 122 ตอนที่ 99 ก หน้า 1 – 7)

พ.ศ. 2549, 21 มีนาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 15 คน (จากราชกิจจานุเบกษา 29 มิถุนายน 2549 เล่ม 123 ตอนที่ 62 ง หน้า 6-7)

พ.ศ. 2549, 19 กรกฏาคม :

สภามหาวิทยาลัยมหิดล มีมติในการประชุมครั้งที่ ๓๙๐ ให้จัดตั้ง ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ขึ้น

พ.ศ. 2550, 7 ตุลาคม :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2550 โดยที่สมควรปรับปรุงการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ และมีความคล่องตัว สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการ สมควรปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยมหิดลให้เป็นตามแนวทางดังกล่าว (จากราชกิจจานุเบกษา 16 ตุลาคม 2550 เล่ม 124 ตอนที่ 68 ก หน้า 4 – 30 )

พ.ศ. 2550, 3 ตุลาคม :

มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยให้รับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดนนทบุรี สถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เข้าเป็นสถาบันสมทบในมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 เป็นต้นไป (จากราชกิจจานุเบกษา 18 กุมภาพันธ์ 2551 เล่ม 125 ตอนที่ 35 ง หน้า 36)

พ.ศ. 2550, 9 ธันวาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (จากราชกิจจานุเบกษา 10 มกราคม 2551 เล่ม 125 ตอนที่ 5 ง หน้า 41)

พ.ศ. 2551, 4 มกราคม :

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

พ.ศ. 2551, 6 พฤษภาคม :

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 15 คน (จากราชกิจจานุเบกษา 18 มิถุนายน 2551 เล่ม 125 ตอนที่ 102 ง หน้า 8-9)

พ.ศ. 2551, 8 พฤษภาคม :

มีประกาศข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วย ปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2551 โดยที่เป็นการสมควรกำหนดปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะให้เหมาะสมและเป็นไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2550 (จากราชกิจจานุเบกษา 11 กุมภาพันธ์ 2552 เล่ม 126 ตอนที่ 22 ง หน้า 69 – 73)

พ.ศ. 2551, 19 พฤศจิกายน :

มีประกาศข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยเครื่องแบบพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 โดยที่เป็นการสมควรกำหนดเครื่องแบบพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมาะสมกับงานพิธีต่างๆ ของมหาวิทยาลัย (จากราชกิจจานุเบกษา 30 มกราคม 2552 เล่ม 126 ตอนที่ 16 ง หน้า 30-32)

พ.ศ. 2552, 20 พฤษภาคม :

มีประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2552 เพื่อให้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยมหิดล มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2550 จึงออกประกาศให้มหาวิทยาลัยมหิดล แบ่งส่วนงานออกเป็น 2 สำนักงาน 1 วิทยาเขต 17 คณะ 7 สถาบัน 5 วิทยาลัย 1 หอสมุดฯ (จากราชกิจจานุเบกษา 20 พฤศจิกายน 2552 เล่ม 126 ตอนที่ 169 ง หน้า 120 – 121)

พ.ศ. 2552, 20 พฤษภาคม :

มีประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การโอนทรัพย์สิน หนี้สิน และผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย พ.ศ.2552 เพื่อให้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยมหิดล มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2550 และประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2552 ที่มีชื่อต่างกัน จึงปรับเปลี่ยนชื่อส่วนงาน ดังต่อไปนี้
1. สำนักคอมพิวเตอร์ และศูนย์ศาลายา มาเป็นหน่วยงานของสำนักงานอธิการบดี และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามความตกลงระหว่างสำนักงานอธิการบดี และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แล้วแต่กรณี
2. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มาเป็น สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย
3. สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มาเป็น สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน
4. สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มาเป็น สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล
5. สถาบันวิจัยโภชนาการ มาเป็น สถาบันโภชนาการ
6. สำนักหอสมุด มาเป็น หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
7. โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล กาญจนบุรี มาเป็น วิทยาเขตกาญจนบุรี
8. โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ มาเป็น คณะกายภาพบำบัด
9. โครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ มาเป็น คณะศิลปศาสตร์
10. โครงการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ มาเป็น สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้
11. โครงการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็น วิทยาลัยนานาชาติ
12. โครงการจัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็น วิทยาลัย ดุริยางคศิลป์
(จากประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 29 มิถุนายน 2552)

พ.ศ. 2552, 17 มิถุนายน :

มีประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การแบ่งหน่วยงานภายในของสำนักงานอธิการบดี พ.ศ.2552 เพื่อให้การบริหารงานของสำนักงานอธิการบดี สามารถตอบสนองวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนทำหน้าที่บริหารจัดการทั่วไปของมหาวิทยาลัย งานบริหาร งานบริการและสนับสนุนการดำเนินงานของทุกส่วนงาน โดยสำนักงานอธิการบดี มีหน่วยงานทั้งสิ้น 18 หน่วยงาน อันประกอบไปด้วย 12 กอง 5 ศูนย์ 1 โครงการจัดตั้ง (จากประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล 29 มิถุนายน 2552)

พ.ศ. 2552, 17 มิถุนายน :

มีประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การโอนอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภายในสำนักงานอธิการบดี พ.ศ.2552 เพื่อให้การบริหารงานของหน่วยงานภายในสังกัดสำนักงานอธิการบดีมีความคล่องตัวและต่อเนื่องจึงขอเปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยงานภายในสังกัดสำนักงานอธิการบดี ดังนี้
1. กองกลาง มาเป็น กองบริหารงานทั่วไป
2. กองการเจ้าหน้าที่ มาเป็น กองบริหารทรัพยากรบุคคล
3. กองบริการการศึกษาและกองทะเบียนและประมวลผล มาเป็น กองบริหารการศึกษา
4. สำนักพัฒนาคุณภาพ มาเป็น กองพัฒนาคุณภาพ
5. งานตรวจสอบภายใน มาเป็น ศูนย์บริหารจัดการความเสี่ยง
6. หน่วยจัดหาประโยชน์จากเงินรายได้ มาเป็น ศูนย์บริหารสินทรัพย์
7. สำนักคอมพิวเตอร์ มาเป็น กองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
8. ศูนย์ศาลายา มาเป็น กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม
(จากประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 29 มิถุนายน 2552)

พ.ศ. 2552, 17 มิถุนายน

มีประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การจัดตั้งกลุ่มภารกิจสังกัดมหาวิทยาลัย พ.ศ.2552 เพื่อให้การดำเนินงานในส่วนของภารกิจที่มีลักษณะสัมพันธ์ เชื่อมโยงหรือใกล้เคียง ภายใต้แนวความคิดของการบริหารจัดการในรูปแบบของการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ จึงให้จัดตั้ง ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม เป็นกลุ่มภารกิจ สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล (จากประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล 29 มิถุนายน 2552)

พ.ศ. 2552, 26 มิถุนายน :

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์เทคโนโลยีนวัตกรรมและปฏิบัติการอเนกประสงค์ และอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

พ.ศ. 2552, 21 ตุลาคม :

มีประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การแบ่งหน่วยงานภายในของสำนักงานอธิการบดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2552 ให้เปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยงานภายในสำนักงานอธิการบดี และจัดตั้งหน่วยงานในสำนักงานอธิการบดี ดังนี้
1. กองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ เปลี่ยนชื่อเป็น กองเทคโนโลยีสารสนเทศ
2.กองบริหารทรัพยากรบุคคล เปลี่ยนชื่อเป็น กองทรัพยากรบุคคล
3.จัดตั้ง โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ
(จากประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล 29 ตุลาคม 2552)

 

สืบค้นข้อมูล และเรียบเรียง : ชาญณรงค์ พุ่มบ้านเช่า งานการประชุมและพิธีการ
กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล