พิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และถวายสัตย์ปฏิญาณ และพิธีปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2561

กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม จัดการประชุมอบรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการเมืองสมุนไพรนครปฐม ณ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ
August 10, 2018
โครงการอนุรักษ์พันธ์ุข้าวท้องถิ่น” พันธ์ุปิ่นแก้ว”
August 14, 2018

พิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และถวายสัตย์ปฏิญาณ และพิธีปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2561

new-student01

14 สิงหาคม 2561 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และถวายสัตย์ปฏิญาณ และพิธีปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2561 ณ ลานพระราชานุสาวรีย์ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยได้แสดงปฐมโอวาท “พระนามมหิดลดุจแสงส่องทาง” ดังนี้

นาม “มหิดล” อันเป็นนามของมหาวิทยาลัยที่พวกเราได้เข้ามานั่งอยู่ ณ ที่แห่งนี้ เป็นนามที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามาภิไธย “มหิดล” ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มาให้ “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” ในขณะนั้น ใช้เป็นชื่อมหาวิทยาลัย เมื่อปีพุทธศักราช 2512

พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือที่พวกเราชาวมหิดลมักจะขานพระนามกันว่า “พระบิดา” นั้น ทรงเป็นแบบอย่างทั้งในด้านการศึกษา การทำงาน และการทำประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ ในวันนี้ จึงได้อัญเชิญพระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนก 5 องค์ มาให้นักศึกษาใหม่ได้เรียนรู้ เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นหมุดหมายสำคัญของการเริ่มต้นออกเดินทางก้าวแรกในมหาวิทยาลัยมหิดลแห่งนี้

พระราชดำรัสองค์แรก “เวลาเป็นของมีค่า เมื่อมันล่วงไปแล้วมันจะไม่กลับมาอีก ถ้าเรามีโอกาสใช้มันให้เป็นประโยชน์แล้วเราไม่ใช้ มันก็น่าเสียดาย” เป้าหมายของการเรียนนั้น มี 4 ขั้น คือ Learn to learn, Learn to live, Learn to do และ Learn to be แปลเป็นไทยได้ว่า “เรียนให้รู้ดูออกบอกถูกผิด เรียนชีวิตเรียนสังคมเรียนหน้าที่ เรียนเพื่อทำสัมมาชีพเลี้ยงชีวี เรียนความงามความดีที่เป็นเรา”

พระราชดำรัสองค์ที่สอง “พวกเราทั้งหลาย การเล่นนั้นเป็นของดี การเรียนนั้นก็เป็นของดีและสำคัญ แต่การที่จะให้ดีกว่านั้นคือ คนที่เรียนก็ดีและเล่นก็ดีด้วย” มหาวิทยาลัยมหิดลนั้นเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศ คนที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมหิดลได้ก็เป็นคนที่เรียนดี เรียนเก่ง แต่การเรียนอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องรู้จัก “เล่น” คือทำกิจกรรมต่างๆ และมีชีวิตนอกห้องเรียนด้วย เพื่อได้มีทักษะชีวิต มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และมีภูมิต้านทานความพ่ายแพ้ผิดหวังและความทุกข์ที่อาจผ่านเข้ามาในชีวิต

พระราชดำรัสองค์ที่สาม “การที่เรียนจบหลักสูตรวิชาชีพแพทย์นั้น ไม่ได้หมายความว่านักเรียนผู้นั้นได้เรียนรู้การแพทย์หมดแล้ว แต่เป็นการตรงกันข้าม การที่เรียนจบนั้นเป็นแต่เพียงขั้นหนึ่งของการศึกษาทางการแพทย์” พระราชดำรัสองค์นี้เป็นการสอนวิธีเรียนรู้ หรือ learning how to learn เพื่อเตรียมพวกเราให้พร้อมก่อนจะออกไปเผชิญโลก บัณฑิตมหิดลจะต้องพร้อมปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่เพียงก้าวทันโลกเท่านั้น แต่จะต้อง “ก้าวนำโลก” คือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลกได้ด้วย

พระราชดำรัสองค์ที่สี่ “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เปนกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” ที่มหิดล เรามุ่งสร้างคนเก่งและคนดี กล่าวคือ เราไม่ได้พัฒนาคนให้เก่งเพียงด้านศาสตร์เท่านั้น แต่มุ่งพัฒนาให้มี “จิตสำนึก” ต่อภาระหน้าที่ด้วย คือให้คำนึงถึงประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง และพึงปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนดังปฏิบัติต่อตนเอง สิ่งที่จะอยู่ในรายวิชา ในกิจกรรม และในวิถีชีวิตของพวกเราชาวมหิดลอยู่เสมอ

พระราชดำรัสองค์สุดท้าย คือ “True Success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ” ข้อความนี้เป็นคติพจน์ที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงบันทึกไว้ที่แผ่นแรกของสมุดปฏิบัติการวิชา Bacteriology ของพระองค์ท่าน และเป็นปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหิดล คำว่า “มหิดล” แปลว่า “พื้นแผ่นดิน” มาจากคำว่า มหิ แปลว่า แผ่นดิน และคำว่า ตล (อ่านว่า ตะ-ละ) แปลว่า พื้น ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยมหิดลจึงมีปณิธานที่จะเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” หรือ Wisdom of the Land

Recent post