มหาวิทยาลัยมหิดล เปิด 6 ข้อเสนอแนะ “นโยบายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางประชากรของประเทศไทย”

ผู้บริหารและตัวแทนส่วนงาน ม.มหิดล ร่วมงาน QS – APPLE 2018 : The 14th QS Asia Pacific Professional Leaders in Education Conference and Exhibition
November 23, 2018
รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์เรื่อง “ธนาคารขยะรีไซเคิล” ในรายการ เรื่องดีดี TNN ทางช่อง TNN 24
November 23, 2018

มหาวิทยาลัยมหิดล เปิด 6 ข้อเสนอแนะ “นโยบายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางประชากรของประเทศไทย”

skill1

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ที่ปรึกษาเกียรติคุณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเปิดการเสวนา เพื่อการขับเคลื่อนนโยบาย ดึงดูดแรงงานที่มีทักษะข้ามชาติเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ณ โรงแรม เมอเคียว บางกอก สยาม ชั้น 9 ห้อง Siam Meeting Room 2-3 หลังจากนั้น เป็นการเสวนา เรื่อง การขับเคลื่อนนโยบาย ดึงดูดแรงงานที่มีทักษะข้ามชาติเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง นักวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ นักวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คุณภัทรพร เล้าวงค์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คุณวรกาญจน์ โกศลพิศิษฐ์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มอนุญาตผู้ชำนาญการต่างประเทศ และคุณวรดา ชำนาญพืช บริษัท ทีบีเคเค (ประเทศไทย) จำกัด รองประธานสภาอุตสาหกรรมชลบุรี กรรมการสมาคมบริหารบุคคลแห่งประเทศไทย เป็นผู้นำการเสวนา
รองศาตราจารย์ ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ กล่าวถึงนักวิจัยโครงการ “นโยบายดึงดูดแรงงานที่มีทักษะข้ามชาติเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยผลการศึกษาของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ว่าประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรมีทักษะสูง สำหรับสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ระหว่างปี 2561-2580 จำนวน 2,305,000 คน โดยแบ่งความต้องการเป็น 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้ กลุ่มดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต ออฟติงส์ ใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัว จำนวน 900,000 คน กลุ่มสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ใช้ความรู้ด้านการบริการเพิ่มมูลค่า จำนวน 720,000 คน กลุ่มเครื่องมืออัจฉริยะและหุ่นยนต์ ใช้เทคโนโลยีเมคาทรอนิกส์ จำนวน 375,000 คนกลุ่มเกษตรและอาหาร ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ จำนวน 240,000 คน และกลุ่มสุขภาพ ใช้เทคโนโลยีชีวการแพทย์ จำนวน 70,000 คน รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกด้วยการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 มีนโยบายดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับสูง นักลงทุน และกลุ่ม start-up จากต่างประเทศ ด้วยการให้สิทธิพิเศษต่างผ่าน Smart Visa มีการทบทวนนโยบายส่งเสริมการลงทุน นโยบายส่งเสริมการศึกษานานาชาติ Thailand Privilege Card ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานชาวต่างชาติ และดึงดูดแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น เช่น โครงการ Smart city, Highspeed Train, Science Park, และ Digital Park เป็นต้น เพื่อให้ประเทศไทยกาหนดแนวนโยบายดึงดูดแรงงานทักษะต่างชาติให้เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ 4.0 ให้สำเร็จ นอกจากนั้น คณะวิจัยได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการต่างๆ ดังนี้
1) กำหนดนโยบายวีซ่าที่เหมาะสมและยืดหยุ่นสำหรับการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะข้ามชาติ รวมทั้งการใช้ระบบการให้คะแนนในการขอวีซ่า (Points-based System) ควรพิจารณาวีซ่าที่เน้นที่คุณสมบัติเฉพาะของกลุ่มที่ต้องการ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น อายุ การศึกษา ประสบการณ์ จำนวนสิทธิบัตร ความสามารถด้านภาษา ประสบการณ์การศึกษาหรือฝึกอบรมในประเทศไทย เป็นต้น โดยมีการให้คะแนนคุณสมบัติต่างๆ ตามลำดับความสำคัญของแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะเป็นการเปิดกว้างให้ผู้ที่มีทักษะจากทั่วโลกยื่นขอวีซ่าได้ ทำให้ประเทศไทยมีตัวเลือกที่มากขึ้น
2) ทบทวนบทบาทของ “ศูนย์บุคลากรทักษะสูง”(Strategic Talent Center) โดยเฉพาะการเพิ่มภารกิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการรักษาแรงงานทักษะสูงไว้ในประเทศ รวมทั้งทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลอุปสงค์ อุปทานแรงงานที่มีทักษะสูงของประเทศ รวมทั้งข้อมูลคนไทยที่มีทักษะสูงในต่างประเทศด้วย
3) กำหนดเป้าหมายกำลังคนและงบประมาณที่เชื่อมโยงข้อมูลของภาคอุตสาหกรรม ตลาดแรงงานและนโยบายด้านการศึกษาเข้าด้วยกัน ควรมีการสำรวจจำนวนแรงงานที่มีทักษะสูงที่ทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายทุกปี เพื่อกำหนดเป้าหมายและคาดการณ์แนวโน้มความต้องการเกี่ยวกับขนาดของกำลังแรงงานและทักษะที่ตลาดต้องการอย่างแท้จริง เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดงบประมาณที่รัฐจะใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
4) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยของผู้ย้ายถิ่นมีทักษะสูงต่างชาติ ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือและสาธารณูปโภคที่ทันสมัย สำหรับการทางานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ นอกจากนี้ในด้านการจัดการการศึกษาของบุตรนั้น ต้องมีการจัดการให้ค่าธรรมเนียมสำหรับโรงเรียนนานาชาติเหมาะสมกับมาตรฐานการครองชีพในประเทศไทย รัฐบาลควรพิจารณาที่จะช่วยเหลือ ด้านที่พักอาศัยและการเดินทาง ตลอดจนการสร้างสังคมไทย ให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินด้วย
5) ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีของต่างชาติให้กับคนไทย ควรสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ระหว่างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติและนักวิจัยไทย สนับสนุนการฝึกงานของบุคลากรไทยในสถานประกอบการของต่างชาติ มีการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรมโดยความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและสถาบันมาตรฐานวิชาชีพของไทยและต่างชาติ และ มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในไทยโดยนำนักวิชาการและนักวิจัยจากต่างประเทศมาสอนหรือฝึกอบรมบุคลากรของไทย ทั้งหลักสูตรในระบบและนอกระบบการศึกษา
6) ส่งเสริมการศึกษานานาชาติและการจ้างงานต่อเนื่อง ควรส่งเสริมการศึกษานานาชาติในไทยและผลิตบุคลากรทั้งไทยและต่างชาติที่มีทักษะเพื่อป้อนเข้าตลาดแรงงานและอุตสาหกรรม 4.0 อย่างต่อเนื่อง โดยไทยต้องดึงดูดและส่งเสริมให้มีการตั้งสถานศึกษาต่างชาติชั้นนำในไทย เน้นการสอนในหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาหลักสูตรร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของไทยและต่างประเทศ และแก้กฎระเบียบเพื่อให้นักศึกษาต่างชาติสามารถทำงานในไทยได้หลังสำเร็จการศึกษา เพื่อเพิ่มแรงงานทักษะสูงในตลาดแรงงานของประเทศไทยต่อไป

Recent post