วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนาวันภาษาแม่สากล ครั้งที่ 7 “นโยบายพหุภาษาเพื่อพัฒนาการศึกษา คุณภาพชีวิต และสันติภาพที่ทั่วถึงและยั่งยืน” Inclusive Multilingual Policy for Sustainable Development in Education Well-being and Peace โดยได้รับเกียรติจาก His Excellency Mr. Md. Nazmul Quaunine เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ประจำประเทศไทย กล่าวในเรื่อง “Mother Language and Peace building in Bangladesh” และ Mr.Shigeru Aoyagi Director of UNESCO Bangkok กล่าวในเรื่อง “International Mother Language day 2019 theme” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
ภายในงานได้จัดการเสวนาระดับชาติ เรื่อง “นโยบายพหุภาษาเพื่อพัฒนาการศึกษา คุณภาพชีวิต และสันติภาพที่ยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ประธานที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต , รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล , คุณดนัย มู่สา รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) , ดร. รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) , ดร.จิรภัทร ไตรเอกภาพ รักษาการหัวหน้ากลุ่มติดตามและประเมินผล ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) ,
ดร. มุคลิส คอลออาแซ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปงตา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอาจารย์ศักดิ์ดา แสนมี่ ผู้อำนวยการสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย ร่วมให้ความรู้ แลกเปลี่ยน
ความคิดเห็นในครั้งนี้
“วันภาษาแม่สากล” (Intermational Mother Language Day) เริ่มต้นจากเหตุการณ์การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการใช้ภาษาบังกลา ซึ่งเป็นภาษาแม่ของนักศึกษาชาวบังกลาเทศในปี 1952 จากเหตุการณ์ดังกล่าวองค์การยูเนสโกจึงตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษาของมวลมนุษยชาติ จึงได้กำหนดให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันภาษาแม่สากลมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.1999 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญต่อภาษาแม่ของทุกกลุ่มชนต่าง ๆทั่วโลก โดยจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานของสถาบันวิจัยภาษาและวิจัยเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นถิ่น (Indigenous Language) ในประเทศไทยและเอเชียอาคเนย์มาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 45 ปี โดยมุ่งส่งเสริมงานวิจัยและการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม และได้พัฒนาสู่การฟื้นฟูภาษาร่วมกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 26 กลุ่มในระยะเวลา 15 ปี ที่ผ่านมาภายใต้การทำงานของศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการประชุมเสวนาวันภาษาแม่สากล เป็นครั้งที่ 7 หัวข้อ “นโยบายพหุภาษาเพื่อพัฒนาการศึกษา คุณภาพชีวิต และสันติภาพที่ทั่วถึงและยั่งยืน” กิจกรรมในครั้งนี้
เป็นการแสดงให้เห็นว่า ความหลากหลายทางภาษาเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงให้กับสังคม อีกทั้งการมีนโยบายพหุภาษาที่ชัดเจนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แตกต่างที่มีอยู่ในสังคมได้
และนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนพื้นฐานของความปรองดองและความสามัคคีในที่สุด ร่วมเป็นพลังในการทำงานก้าวต่อไปเพื่อขับเคลื่อนนโยบายพหุภาษาให้เกิดผลดีเต็มที่ทั้งในสังคมไทยและในสังคมโลก