สถาบันเด็กฯ มหิดล แนะผู้ปกครองปลูกฝังวินัยเชิงบวก เสริมสร้างพัฒนาการสมอง ควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์

พิธีทำบุญตักบาตรเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
July 26, 2018
คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จัดเสวนาพิเศษ Science Café ตอน มองรอบด้านกับ Trans Fat
July 26, 2018

สถาบันเด็กฯ มหิดล แนะผู้ปกครองปลูกฝังวินัยเชิงบวก เสริมสร้างพัฒนาการสมอง ควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์

howto5

“การสร้างวินัยเชิงบวก” คือการสอนและฝึกฝนเด็กให้มีพฤติกรรมตามที่คาดหวังโดยไม่ใช้ความรุนแรง  โดยยึดหลักการ 2T คือ T1 = Teach คือ การสอน  และ T2 = Train คือ การฝึกฝน อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ มหาบัณฑิต สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่า นอกจากการสอนและการฝึกฝนแล้ว การใช้การสร้างวินัยเชิงบวกให้ได้ผล ยังต้องเสริมอีก 3T คือ Target Behavior คือ การกำหนดพฤติกรรมเป้าหมาย Trust คือ ความเชื่อมั่นไว้ใจ และ Time คือ การให้เวลาในการฝึกฝนพฤติกรรมเป้าหมาย และการสานความผูกพัน

“101 การสร้างวินัยเชิงบวก” ซึ่งเป็นวิธีการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกแบบ “how to”  ที่พัฒนามาจากการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านประสาทวิทยา จิตวิทยาเชิงบวก จิตวิทยาพัฒนาการ และการศึกษา และได้รับการยืนยันจากผลการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ว่าเป็นเทคนิคการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสมอง และสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก โดยจะเน้นการสอนและการฝึกฝนพฤติกรรมเป้าหมาย บนพื้นฐานความไว้ใจกันและกันระหว่างผู้เลี้ยงดูและเด็ก อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการให้ “เวลา” เด็กในการฝึกฝนพฤติกรรมเป้าหมาย และการให้เวลาในการสร้างและรักษาความไว้ใจซึ่งกันและกัน

“เมื่อไหร่ปลอบ เมื่อไหร่สอน” เป็นเทคนิคเริ่มต้นที่สำคัญของการใช้ 101 การสร้างวินัยเชิงบวก เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กอยู่ในภาวะอารมณ์ที่ไม่ดี มักจะระบายอารมณ์ที่ไม่ดีนั้นออกมาเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม ดังนั้นแม้พฤติกรรมนั้นจะไม่น่ารักมากเพียงใด จะก้าวร้าวมากแค่ไหน หรือทำให้เราโกรธมากเท่าไหร่ เราก็จะต้อง “ปลอบ” เพราะเป็นเวลาที่เด็กต้องการความช่วยเหลือทางอารมณ์จากเรามากที่สุด และเมื่อไหร่ก็ตาม ที่เด็กอยู่ในภาวะอารมณ์ที่พร้อมจะฟัง และตัดสินใจด้วยเหตุผล เราถึงจะ “สอน” แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะทำตรงข้ามกัน คือ เราจะสอนเด็กทันทีที่เห็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม

การปลอบตามหลักการของ 101 การสร้างวินัยเชิงบวก มีเป้าหมายหลักคือ ให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและมีคนเข้าใจเพื่อให้อารมณ์ลดลงอยู่ในระดับที่เด็กสามารถควบคุมและจัดการอารมณ์ตัวเองได้ และการสอนตามหลักการของ 101 การสร้างวินัยเชิงบวก ก็จะเริ่มจากการกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อที่จะสอนและให้โอกาสเด็กได้ฝึกฝนพฤติกรรมนั้นจนเกิดเป็นทักษะและนิสัย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นเด็กร้องไห้โวยวาย แทนการสอนทันทีว่าไม่ควรปาของ ให้เริ่มจากการปลอบ ด้วยการแสดงความเข้าใจว่าเขาโกรธ เขาถึงปาของ และเมื่อเห็นว่าเขาอยู่ในอารมณ์ที่พร้อมแล้ว ค่อยสอนด้วยการให้เด็กตัดสินใจว่า แทนการปาของ เขาจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นต้น

การสร้างวินัยเชิงบวกนั้นสามารถเริ่มฝึกได้ตั้งแต่แรกเกิด จากการอ้างอิงงานวิจัยด้านประสาทวิทยา ได้พิสูจน์การทำงานของสมองให้เห็นแล้วว่า เมื่อสมองทำงานซ้ำๆ  สัมผัสซ้ำๆ ได้รับข้อมูลซ้ำๆ จะเกิดเป็น “ทักษะ” และเป็นบุคลิภาพภายในตัวตน ยกตัวอย่างเช่น การเก็บของเล่น สามารถหัดได้ตั้งแต่เล็ก โดยเริ่มจากการพาไปทำ คือเมื่อเล่นเสร็จ ให้จับมือเด็กเก็บของเล่น ไปเรื่อยๆ จนเมื่อเขาโตขึ้น แข็งแรงขึ้น เขาจะสามารถนำของเล่นไปเก็บเองได้ ตามที่เราปลูกฝังไว้แต่ยังเด็ก ซึ่งเป็นไปตามหลักของการพัฒนาสมอง โดยที่เป้าหมายสูงสุดของการสร้างวินัยเชิงบวกก็คือ เด็กต้องสามารถควบคุมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของตนเอง และมีวินัยในตัวเองได้

อ.ปนัดดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประโยชน์ที่ได้จากการปลูกฝังวินัยเชิงบวก คือ จะช่วยให้เด็กสามารถตัดสินใจด้วยตัวเอง ส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเรากับเด็ก ทำให้เด็กเกิดความผูกพันระหว่างกัน เป็นการพัฒนาด้านการรับรู้ตัวตนของเด็กเอง ฝึกควบคุมอารมณ์ และสามารถแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมได้ ทั้งนี้ การสร้างวินัยเชิงบวกก็ยังมีข้อจำกัดอยู่เช่นกัน คือ กว่าจะซึมซับเป็นนิสัยของเด็กได้นั้น ต้องใช้เวลาปลูกฝังเป็นเวลานาน ครูและพ่อแม่ จึงไม่ควรคาดหวังให้ลูกเป็นไปตามแนวทางที่ต้องการจนเร็วเกินไปนัก มิฉะนั้น เราอาจใช้การสร้างวินัยเชิงลบได้โดยไม่รู้ตัว

Recent post