พิธีลงนาม (MOU) ระหว่างสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล และหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

การตรวจประเมินส่วนงานตามเกณฑ์ EdPEx ประจำปี 2561 : สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล
June 29, 2018
สถาบันเด็กฯ ม.มหิดล จัดแถลงข่าว “ทักษะความปลอดภัยทางน้ำ Stop Drowning Start Doing”
June 29, 2018

พิธีลงนาม (MOU) ระหว่างสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล และหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

MOU RILCA_7

วันที่ 29 มิถุนายน 2561 รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย คุณโดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เป็นตัวแทนจากทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ณ ห้องประชุมบริหาร ชั้น 2 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

พิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ในครั้งนี้เริ่มต้นพัฒนาขึ้นจากกิจกรรมโครงการประกวดภาพยนตร์สั้น ซึ่งจัดขึ้นโดยโครงการจัดตั้งศูนย์พหุวัฒนธรรมอาเซียน (Multicultural ASEAN Center Project : MU-MAC) มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิชาการ เป็นหัวหน้าโครงการฯ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย และได้รับความอนุเคราะห์จากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นภาคีและที่ปรึกษาในกิจกรรมดังกล่าว โดยมีนักเรียนและนักศึกษาจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรมและเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการให้หัวข้อ “พหุวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน” เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมและเสริมสร้างสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านสื่อภาพยนตร์ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยกิจกรรมดังกล่าวได้มีการจัดอบรมทั้งภาคทฤษฎีเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน และภาคปฏิบัติเกี่ยวกับเทคนิคการผลิตภาพยนตร์ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา จากจุดเริ่มต้นของความร่วมมือนี้ สถาบันฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมดังกล่าวจะสามารถพัฒนาให้เป็นกิจกรรมความร่วมมือที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ทั้งนี้ ความเป็นปึกแผ่นทางวิชาการและความมุ่งมั่นในวิชาชีพของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ซึ่งมีสถานะเป็นสถาบันวิจัยชั้นนำสถาบันหนึ่งของประเทศไทยที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศไปพร้อมกับการทำงานวิจัย และให้บริการด้านการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา มีพันธกิจหลักในการสร้างความเป็นเลิศทางการวิจัยและการสร้างเครือข่ายการวิจัยทางด้านภาษา วัฒนธรรม และพหุวัฒนธรรม ได้วาง กลยุทธ์สำคัญประการหนึ่ง คือ การผลักดันให้เกิดการใช้การวิจัยด้านภาษา วัฒนธรรม และพหุวัฒนธรรม โดยเริ่มเปิดประเด็นและพื้นที่วิจัยใหม่ๆ ที่เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายใต้บริบทโลก และเข้าถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของโลกในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้าน Cultural Creativity อาทิ ภาพยนตร์ งานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถนำไปสู่การสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และส่งเสริมให้เกิดสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเข้าใจ

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ระหว่างสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียกับหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จะสามารถขยายขอบเขตความร่วมมือทางการวิจัยและวิชาการระหว่างกัน รวมถึงพัฒนาความร่วมมือในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในรูปแบบเครือข่ายการวิจัย การบริการวิชาการ และกิจกรรมในลักษณะอื่น ๆ ต่อไป

Recent post