รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ให้การต้อนรับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือจัดตั้งศูนย์การแพทย์

MU-NCKU เจรจาความร่วมมือ ด้าน Joint Medical/Dental Devices and Applications
June 8, 2018
คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล จัดงานประชุมวิชาการทางเภสัชศาสตร์ฉลองครบรอบ 50 ปี
June 8, 2018

รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ให้การต้อนรับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือจัดตั้งศูนย์การแพทย์

walailak5

8 มิถุนายน 2561 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในโอกาสนำทีมส่วนงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าหารือความร่วมมือกับส่วนงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล อันจะเป็นส่วนสำคัญในการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ณ ห้องประชุม OSM 1 ชั้น 2 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เข้าร่วมหารือ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และส่วนงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้แก่ วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ และศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ ที่จัดการศึกษาด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่จะมีโรงพยาบาลรองรับการเรียนการสอน การวิจัย และให้การบริการทางการแพทย์แก่ชาวนครศรีธรรมราชและภาคใต้ตอนบนต่อไป ซึ่งประกอบด้วยสำนักวิชาต่างๆ ได้แก่ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ โดยมีศูนย์การแพทย์เป็นศูนย์กลางของทุกสำนักวิชา ทำหน้าที่ให้การศึกษา วิจัย และบริการด้านสุขภาพแก่สังคม

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กำลังเร่งดำเนินการสร้างศูนย์การแพทย์อย่างเต็มที่ และมีความก้าวหน้าตามลำดับ ในเฟสแรกของการดำเนินการมีมูลค่า 2,128 ล้านบาท บนพื้นที่ 405 ไร่ ปัจจุบันได้เปิดให้บริการแล้วในระยะแรก และจะเปิดศูนย์การแพทย์อย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 โดยจะมีการติดตั้งครุภัณฑ์ และเตรียมความพร้อมบุคลากรทางด้านการแพทย์และบุคลากรในด้านต่างๆ รวมกว่า 16 สาขาความเชี่ยวชาญ จะให้บริการจำนวน 419 เตียง และเมื่อเปิดบริการเต็มโครงการจะมีจำนวน 750 เตียง พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ไม่น้อยกว่า 3,000 คน และจะมีผู้ใช้บริการกว่า 1 ล้านคนต่อปี โดยเป้าหมายของศูนย์การแพทย์ฯ จะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ขนาดใหญ่ที่ทันสมัยที่สุดในภาคใต้ตอนบน มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้บริการครอบคลุมพี่น้องประชาชนชาวภาคใต้ตอนบน และที่สำคัญศูนย์การแพทย์ฯ แห่งนี้ จะเป็นแหล่งฝึกฝนของนักศึกษาในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องอาทิ แพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ ตลอดจนสาขาอื่นๆ รวมทั้งหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์

Recent post