นศ.ชีวการแพทย์ มหิดล คิดค้นระบบการขนย้ายและเก็บรักษาหัวใจ สำหรับผู้ป่วยปลูกถ่ายหัวใจ

การแสดงคอนเสิร์ต London Symphony Orchestra (LSO)
June 7, 2018
MU-NCKU เจรจาความร่วมมือ ด้าน Joint Medical/Dental Devices and Applications
June 8, 2018

นศ.ชีวการแพทย์ มหิดล คิดค้นระบบการขนย้ายและเก็บรักษาหัวใจ สำหรับผู้ป่วยปลูกถ่ายหัวใจ

hop2

โดยปกติผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายหัวใจดวงใหม่ ต้องรอรับหัวใจจากผู้บริจาคที่มีอาการสมองตายแล้วเท่านั้น และปกติการขนย้ายหัวใจจากผู้ที่บริจาคมายังผู้รับบริจาคจะค่อนข้างใจเวลานาน และเก็บมาในลักษณะของการแช่แข็ง ลดอัตราการทำงานต่างๆของระบบหัวใจลง เพื่อรักษาอวัยวะให้ใช้งานต่อได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาที่สามารถเก็บรัษาหัวใจขณะเคลื่อนย้ายได้เพียง 4 – 6 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าผู้ให้อยู่ห่างไกลจากผู้รับมากๆ ผู้รับอาจจะหมดสิทธิ์ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจดวงใหม่ ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของระยะทางและเวลาในการขนย้าย อาจต้องรอรับผู้บริจาคคนต่อไป

ด้วยเหตุนี้ น้องๆนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย นายภาคภูมิ เอกพินิจพิทยา นายทัตดนัย แก้วกาญจนเศรษฐ์ และนางสาวพิรญาณ์ วิดจายา ในนาม “ทีม HOP” โดยมี ดร.พรภพ นัยเนตร และ อ.นพ.กรกช เกษประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นที่ปรึกษา จึงได้คิดค้น “ระบบเก็บรักษาหัวใจในการขนย้ายจากผู้บริจาคเพื่อส่งให้ผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายหัวใจ” โดยจะพัฒนาวิธีการเก็บหัวใจให้เต้นอยู่ภายนอกร่างกาย ให้สามารถอยู่ได้ถึง 9 ชั่วโมง จากเดิมที่สามารถเก็บได้ 4 – 6 ชั่วโมง

น้องๆทีม HOP เปิดเผยว่า “ด้วยระยะเวลาที่จำกัด ถ้าเราทำระบบที่สามารถเก็บรักษาหัวใจให้ได้นานขึ้น เราก็มีโอกาสเพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจมากยิ่งขึ้น จึงเริ่มคิดระบบที่มีการฟีดเลือดไปเลี้ยงหัวใจให้มีการเต้นตลอดเวลา ซึ่งมีงานวิจัยรับรองว่าการฟีดเลือดไปเลี้ยงหัวใจให้มีการเต้นตลอดเวลา มีโอกาสทำให้การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจสำเร็จได้มากกว่าแบบแช่แข็ง โดยแพทย์จะทำการผ่าเอาหัวใจจากผู้ให้มาใส่ในระบบของเรา ในระบบจะมีการควบคุมการไหลเวียนของเลือดให้ไปเลี้ยงหัวใจตลอดเวลา ทำให้หัวใจได้รับออกซิเจนและสารอาหารเพียงพอ ทำให้หัวใจเต้นขณะเคลื่อนย้ายได้ และสามารถเพิ่มเวลาการเคลื่อนย้ายได้เป็น 9 ชั่วโมงอีกด้วย โดยในอนาคตก็จะพัฒนาในส่วนของระบบในการกำจัดของเสียที่ปล่อยมาจากหัวใจขณะเคลื่อนย้ายเพิ่มเติมด้วย ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน”

โดยผลงานดังกล่าวเพิ่งชนะการแข่งขันการนำเสนอผลงานแนวความคิดในกิจกรรม MU-MIT Pitching Day ที่มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมและสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และได้เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายทางด้าน Innovation Ecosystem ร่วมกับ Massachusetts Institute of Technology (MIT) บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนมิถุนายน 2561 นี้ต่อไป

Recent post