วารสารทางการแพทย์นานาชาติ Siriraj Medical Journal (SMJ) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้รับการตอบรับเข้าฐาน SCOPUS

งาน Yunnan-South Asia and Southeast Asia Education Cooperation Forum เครือข่ายมหาวิทยาลัยไทย-ยูนนาน
June 13, 2018
การตรวจประเมินส่วนงานตามเกณฑ์ EdPEx ประจำปี 2561: มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ
June 14, 2018

วารสารทางการแพทย์นานาชาติ Siriraj Medical Journal (SMJ) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้รับการตอบรับเข้าฐาน SCOPUS

journal1

เมื่อเร็วๆ นี้ วารสารทางการแพทย์นานาชาติ Siriraj Medical Journal (SMJ) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการตอบรับเข้าฐาน SCOPUS ซึ่งเป็นฐานข้อมูลนานาชาติที่สำคัญที่นักวิจัยทั่วโลกใช้ในการศึกษาค้นคว้าเพื่อประกอบการทำวิจัย และใช้เพื่อตรวจสอบการอ้างถึงผลงานวิจัย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธวัชชัย อัครวิพุธ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร Siriraj Medical Journal (SMJ) กล่าวว่า วารสาร SMJ ได้ดำเนินการตีพิมพ์มาเป็นเวลา 70 ปีแล้ว โดยมีบรรณาธิการท่านแรก คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ปัจจุบันมีการตีพิมพ์วารสาร SMJ ออกเผยแพร่ราย 2 เดือน หรือปีละ 6 เล่ม ใน 1 เล่มมีบทความประมาณ 10 เรื่อง และเป็นวารสารแบบ open access คือ สามารถเข้าถึงบทความได้โดยผ่านเว็บไซต์ www.smj.si.mahidol.ac.th โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิก กองบรรณาธิการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยจะมีทั้งที่เป็นคนไทย และต่างชาติ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ จากทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย เราเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้มาเพื่อที่จะมาให้ข้อแนะนำให้วารสารเรา เพื่อที่เราจะได้พัฒนาวารสาร SMJ ให้มีมาตรฐานระดับนานาชาติ ส่วนกองบรรณาธิการที่เป็นคนไทย ไม่ได้มีแต่เฉพาะในศิริราช แต่จะพยายามกระจายไปสู่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยด้วย

จริงๆ แล้ว SCOPUS มีหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวด ประกอบด้วยรายละเอียดมากมาย แต่ที่อยากจะขอยกตัวอย่างสั้นๆ ที่สำคัญในการพิจารณาของ SCOPUS ก็คือ วารสารจะต้องเป็นภาษาอังกฤษที่อ่านแล้วเข้าใจได้ และไม่ใช่ว่ามีบทความที่มาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เท่านั้น  แต่จะต้องมีบทความที่มาจากภายนอกคณะฯ และต่างประเทศ มากกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไป นอกจากนี้ Scopus จะดูในเรื่องคุณภาพของวารสารด้วย ก็คือ ต้องตีพิมพ์ตรงเวลา ออกตรงเวลา การรับ submission เพื่อพิจารณาให้ตีพิมพ์ต้องมีระบบที่สามารถ submit ผ่านเว็บไซต์ได้ แล้วก็ต้องมีการประเมินแบบ “double blindซึ่งหมายความว่า ทั้งผู้เขียน และผู้ประเมินบทความ ไม่ทราบว่าบทความนี้มาจากที่ไหน ใครเป็นผู้เขียนและผู้ประเมิน

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร SMJ ได้กล่าวถึงการที่ SCOPUS กำหนดให้มีสัดส่วนบทความจากต่างชาติถึงร้อยละ 60 ขึ้นไปนั้นว่า ไม่ได้ทำให้คนไทยมีโอกาสเสนอบทความน้อยลง เนื่องจากเราพยายามส่งเสริมให้งานวิจัยหรือบทความของคนไทยมีความร่วมมือกับชาวต่างชาติ โดยในงานวิจัยแต่ละเรื่องควรมี co-author หรือ ผู้ร่วมเขียนบทความ ที่เป็นชาวต่างชาติด้วยอย่างน้อย 1 หรือ 2 คน ทำให้บทความนี้ไม่ใช่บทความของคนไทยอย่างเดียว มีชาวต่างชาติร่วมด้วย หรือเป็นงานวิจัยที่เรียกกันว่า multi-center study ซึ่งจะส่งผลให้วารสารมีคุณภาพสูงขึ้น

อยากให้อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยเราพยายามที่จะทำงานวิจัยและเขียนบทความมากยิ่งขึ้น ถ้าเรามีความรู้หรือทำงานวิจัยแล้วไม่เขียน ผลงานชิ้นนั้นก็จะค่อยๆ เลือนหายไป แต่ถ้าผลงานนั้นได้ถูกเขียน และตีพิมพ์ องค์ความรู้นั้นก็จะคงอยู่ กองบรรณาธิการฯ มีความยินดีให้นักวิจัยของไทยส่งบทความเข้ามาที่ SMJ ทางวารสารจะมีทีมที่คอยช่วยสนับสนุน ทั้งในเรื่องของการแก้ไขภาษา ประเมินคุณภาพบทความ ตลอดจนการสร้างสรรค์งานกราฟิก หรือรูปภาพประกอบบทความ โดยเรามีผู้ที่มีความชำนาญทางด้านนี้คอยให้บริการ วารสาร SMJ ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่บทความงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย และจะเป็นช่องทางไปสู่นานาชาติ ทั่วโลกก็จะมองเห็นบทความและงานวิจัยของเราด้วย” หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร SMJ กล่าว

Recent post