วันที่ 4 มิถุนายน 2562 ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าว “ศิริราชประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย” โดยมี รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงงามแข เรืองวรเวทย์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงภิญนิตา ตันธุวนิตย์ หัวหน้าสาขากระจกตา ภาควิชาจักษุวิทยา และหัวหน้าทีมปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาศิริราช ทางคลินิก
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมา เอกโพธิ์ ฝ่ายวิจัย และหัวหน้าทีมปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาศิริราชทางห้องปฏิบัติการ พร้อมด้วยทีมแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายเต็มเซลล์ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ทีมจักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา ได้ดำเนินการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ด้วยวิธี CLET และปี พ.ศ. 2551 พัฒนาการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ด้วยวิธี COMET ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้เริ่มนำการผ่าตัดปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาด้วยวิธี SLET มาใช้จนถึงปัจจุบันสำเร็จเป็นครั้งแรกและแห่งแรกของประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้พัฒนาวิธีการรักษาด้านจักษุวิทยามาจนประสบความสำเร็จ จากงานวิจัยสู่การรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งยกระดับงานวิจัยสู่ระดับนานาชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ทีมจักษุแพทย์ศิริราช ได้ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลิมบัส CLET (Cultivated limbal epithelial transplantation) ต่อมา พ.ศ. 2551 พัฒนาการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเยื่อบุปาก COMET (Cultivated oral mucosal epithelial transplantation) จากนั้น พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ใช้วิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัสโดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยง SLET (Simple limbal epithelial transplantation) มาใช้ สำเร็จเป็นครั้งแรกและแห่งแรกของประเทศไทย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการรักษา ซึ่งการพิจารณาเลือกการรักษาจาก 3 วิธีนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
รศ.พญ. งามแข เรืองวรเวทย์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา กล่าวถึง โรคตาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยว่า กระจกตาปกติของคนเรามีความใสและผิวเรียบ ทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจน การที่กระจกตาสามารถคงความใสอยู่ได้ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ สเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา ทำหน้าที่เสมือนโรงงานคอยสร้างเซลล์ผิวกระจกตาขึ้นทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไปตลอดเวลา ทำให้ผิวกระจกตาคงความใสและไม่เป็นแผล ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเขื่อนป้องกันไม่ให้เส้นเลือดจากเยื่อตารุกเข้ามาในกระจกตาได้ โดยสเต็มเซลล์อยู่ที่ตำแหน่งรอยต่อของกระจกตาและเยื่อตาที่เรียกว่า “ลิมบัส”
ภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่อง เป็นภาวะที่รักษายาก ในผู้ป่วยที่มีภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่องนั้น เสมือนไม่มีโรงงานที่คอยสร้างเซลล์ และไม่มีเขื่อนที่คอยป้องกันเส้นเลือด ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาตามวิธีมาตรฐาน ไม่สามารถรักษาภาวะสเต็มเซลล์บกพร่องได้ และเส้นเลือดยังสามารถรุกเข้ามาในกระจกตาจนบดบังการมองเห็น ดังนั้นในผู้ป่วยที่สเต็มเซลล์บกพร่องมาก การรักษาจึงจำเป็นต้องทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา
รศ.พญ.ภิญนิตา ตันธุวนิตย์ หัวหน้าสาขากระจกตา ภาควิชาจักษุวิทยา และหัวหน้าทีมปลูกถ่าย สเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาศิริราชทางคลินิก กล่าวถึง ขั้นตอนการผ่าตัดปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา และผลการผ่าตัดว่า ผู้ป่วยที่มีสเต็มเซลล์บกพร่องอย่างรุนแรง จำเป็นต้องทำการรักษาโดยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา ซึ่งวิธีการในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ 1 จากการเพาะเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลิมบัสหรือเยื่อบุปาก และ กลุ่มที่ 2 การนำเนื้อเยื่อจากลิมบัสมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยโดยตรง โดยไม่ต้องเพาะเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการ
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลศิริราชได้ทำการรักษาผู้ป่วยภาวะสเต็มเซลล์เยื่อบุผิวกระจกตาบกพร่องด้วยวิธีการทั้ง 3 วิธี และได้พัฒนาเทคนิคเฉพาะให้เหมาะสมกับผู้ป่วยไทยด้วยวิธี SLET เรียกว่า “ศิริราชเทคนิค” และหากมีผู้ป่วยที่มีภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่อง โรงพยาบาลศิริราชจะเลือกใช้วิธี SLET โดยใช้เซลล์ของผู้ป่วยเองหรือของญาติสายตรงมาปลูกถ่ายเป็นวิธีแรก แต่หากสภาวะของผู้ป่วยไม่เหมาะสมกับวิธี SLET จะพิจารณาทำการปลูกถ่ายด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแทน ปัจจุบันการรักษาภาวะสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาบกพร่อง ทั้ง 3 วิธีของโรงพยาบาลศิริราช ได้ทำการผ่าตัดไปทั้งสิ้น 86 ตา ในผู้ป่วย 75 ราย จากวิธี CLET 24 ตา COMET 27 ตา ประสบผลสำเร็จประมาณร้อยละ 70 ในขณะวิธี SLET ผ่าตัดแล้ว 35 ตา ประสบผลสำเร็จถึง ร้อยละ 83
นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังได้ขยายการวิจัยร่วมกับภาควิชาจักษุวิทยาของโรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคคลากรทางการแพทย์ ผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งยกระดับงานวิจัยสู่ระดับนานาชาติต่อไป