Press Tour เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยมหิดล ตอกย้ำความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University)

คณะผู้บริหาร ม.มหิดล รับฟังข้อตกลงการปฏิบัติงานของส่วนงาน (PA ส่วนงาน) คณะพยาบาลศาสตร์
December 18, 2018
ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจาก University of the Philippines (UP), Diliman Campus ประเทศฟิลิปปินส์
December 18, 2018

Press Tour เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยมหิดล ตอกย้ำความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University)

e-co01

วันที่ 18 ธันวาคม 2561 รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ให้การต้อนรับสื่อมวลชน เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยมหิดลในโครงการ Press Tour เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยมหิดล ตอกย้ำความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University)” ณ อาคารใบไม้ 3 ใบ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิล ศาลายา

ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมโครงการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) โดยมหาวิทยาลัยมหิดลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2558 – 2562 โดยมีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และดำเนินการตาม 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals-SDGs) ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการดังต่อไปนี้

  1. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เป็นอุทยานธรรมชาติเกี่ยวกับสมุนไพร ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางที่สุดในประเทศไทย เป็นที่รวบรวมพันธุ์สมุนไพรที่ปรากฏในตำรายาไว้มากที่สุดกว่า 800 ชนิด ภายในอุทยานยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายอาทิ นิทรรศการ “สมุนไพร ภูมิปัญญาไทยสู่สากล” ให้ผู้ชมเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรไทยใกล้ตัว “บ้านหมอยา” คลินิกให้บริการการแพทย์แผนไทย ในบรรยากาศบ้านหมอยาแบบโบราณ ทั้งนี้อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “การออกแบบเพื่อมวลชน” (Universal Design) ซึ่งเป็นการออกแบบสิ่งแวดล้อม สถานที่ และสิ่งของเครื่องใช้ ที่อำนวยความสะดวก ให้แก่ผู้สูงอายุ คนพิการ เพื่อให้ผู้ชมทุกกลุ่มสามารถมาเรียนรู้และเยี่ยมชม อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้อย่างเท่าเทียมกัน
  2. โครงการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นการนำขยะใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า ภายในมหาวิทยาลัยมหิดลกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ซึ่งการทำปุ๋ยชีวภาพนั้นจะนำไปใช้ในการดูแลบำรุงรักษาสภาพภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และเมื่อเหลือจากการใช้ก็นำมาจำหน่ายให้เกษตรกร หรือบุคคลที่สนใจต่อไป
  3. โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล (Recycle Bank) โครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา เจ้าหน้าที่ อาจารย์ รวมถึงประชาชน ผู้ประกอบการร้านค้า สามารถมานำขยะรีไซเคิลมาฝากขายได้ที่ อาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยธนาคารขยะรีไซเคิลจะออกสมุดฝากขยะรีไซเคิลเพื่อเปิดเป็นบันชีธนาคารในการนำขยะมาขายให้กับโครงการฯ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยให้ปริมาณขยะในมหาวิทยาลัยลดลงจำนวนมาก
  4. โครงการบำบัดน้ำเสีย มหาวิทยาลัยมหิดลมีการศึกษา สำรวจ และออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียรวม (Central Treatment) ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียจากอาคารเดิมรวมถึงอาคารที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตได้ปริมาณ 6,000 ลบ./ม./วัน ในปัจจุบันก่อสร้างและใช้จริงอยู่ที่ปริมาณ 3,000 ลบ./ม./วัน และมีการบริหารจัดการเพื่อบำบัดน้ำเสียให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งประเภท ก. คือ น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วต้องมีค่า BOD ไม่เกิน 20mg/l ก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะต่อไป
  5. โครงการแปลงผักปลอดสารพิษ โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปสมุนไพรศาลายา ร่วมกับอำเภอพุทธมณฑลและมหาวิทยาลัยมหิดล โดยแนวคิดเบื้องต้นเกิดจากความต้องการที่จะพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้พื้นที่ 4 ไร่ บริเวณด้านข้างคณะเทคนิคการแพทย์ ดำเนินการโครงการปลูกผักปลอดสารพิษ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 เป็นต้นมา
  6. โครงการพลังงานไบโอดีเซล มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำน้ำมันที่ใช้แล้วจากโรงอาหาร กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยผ่านกระบวนการ ซึ่งใช้ต้นทุนการผลิตเพียง 19 บาทต่อลิตร โดยนำมันไบโอดีเซลที่ได้จะนำมาใช้กับรถบรรรทุกต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล
  7. โครงการมหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก ส่งเสริมให้ประชาคมมหิดลเกิดการลดใช้ถุงพลาสติกและนำถุงพลาสติกที่มีสภาพใหม่กลับมาใช้ซ้ำ อีกทั้งยังส่งเสริมให้บุคลากร นักศึกษา ประชาชน มีความรู้และตระหนักเห็นคุณค่าในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ขอความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อภายในมหาวิทยาลัยมหิดลงดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้า โดยเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อนำถุงผ้ามาเองหรือบริจาคค่าถุงพลาสติกใหม่ในราคา 2 บาท หรือใช้ถุงพลาสติก reuse ส่งผลให้ยอดการใช้ถุงพลาสติกลดลงถุง 90 เปอร์เซ็น หรือลดการใช้ถุงพลาสติกได้เกือบ 2 ล้านใบต่อปี

Recent post