ม.มหิดลจัดประชุมวิชาการ Cancer Precision Medicine Academic Conference 2018

มหาวิทยาลัยมหิดล ต้อนรับอธิการบดีจาก Soka University ประเทศญี่ปุ่น
December 13, 2018
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนา “Rankings: Measure of a University’s Global and Regional Standing”
December 13, 2018

ม.มหิดลจัดประชุมวิชาการ Cancer Precision Medicine Academic Conference 2018

S__95920135

13 ธันวาคม 2561 ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกล่าวเปิดประชุมวิชาการ Cancer Precision Medicine Academic Conference 2018 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2561 ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโดย มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะมหาวิทยาลัยแกนนำของคลัสเตอร์สุขภาพ (Health Cluster) ในเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง (Precision Medicine for Cancer) ซึ่งได้รับทุนวิจัยจาก วช. ประเภทโครงการวิจัยท้าทายไทย

RUN เกิดขึ้นเพื่อการวิจัยที่มุ่งตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 สร้างงานวิจัยจากโจทย์วิจัยที่มีความสำคัญต่อประเทศ ภูมิภาคและของโลกเป็นตัวตั้ง เพื่อมุ่งตอบสนอง และเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคต อีกทั้งจะเป็นศูนย์กลางการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอาเซียน โดยมีการแบ่งปันทรัพยากรในการวิจัย (resource sharing) อาจารย์และนักวิจัย นิสิตนักศึกษาทุกระดับจนถึงหลังปริญญาเอก (Postdoc) เครื่องมือวิจัย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีการบริหารงานวิจัย และร่วมกันสร้างโครงการวิจัยและวิเคราะห์ปัญหางานวิจัยร่วมกัน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (Research Project Manager) กล่าวว่า จริงๆ แล้วคลัสเตอร์เราประกอบด้วยนักวิจัยจากเครือข่ายของมหาวิทยาลัยใน RUN ทั้งหมด 8 สถาบัน ซึ่งได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยนเรศวร จุดประสงค์ก็คือ เรารวมตัวกันเพื่อร่วมกันทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประเทศไทย ปัญหาของประเทศไทยในตอนนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คงจะอยู่ที่สังคมผู้สูงอายุ ที่กำลังเผชิญกับปัญหาของความเจ็บป่วยของประชาชนไทยในโรคเรื้อรังชนิดที่ไม่ติดต่อ หรือ NCDs กลุ่มนักวิจัยของเราได้คุยกัน แล้วก็คิดว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของโรค NCDs หนึ่งในนั้นก็คือโรคมะเร็ง เนื่องจากองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งของเรามีมากขึ้นเรื่อยๆ เราทราบว่าปัจจัยใหญ่อันดับหนึ่งของโรคมะเร็งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นในเซลล์ที่ทำให้เกิดมะเร็ง เพราะฉะนั้นองค์ความรู้เหล่านี้คิดว่าเราสามารถที่จะนำมาใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรค ช่วยในการรักษา เลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุดได้สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมถึงใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการที่จะติดตามผลการรักษา และการบอกพยากรณ์โรคของผู้ป่วยเหล่านี้ได้ โครงการที่เราร่วมมือกันในการทำวิจัยในเครือข่าย RUN ของเราก็คือโครงการที่เรียกว่า Cancer Precision Medicine หรือการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง โดยการใช้องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในระดับยีนส์ พันธุกรรมระดับโปรตีน หรือระดับเซลล์ก็ตามในการวินิจฉัยโรค และการติดตามการรักษาผู้ป่วย รวมถึงการพยายามสร้างโมเดล เช่น โมเดลของเซลล์มะเร็งที่ได้จากคนไข้ในการทดสอบเพื่อดูการตอบสนองของยารักษามะเร็งในการรักษา เราก็หวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มของการร่วมมือทำงานวิจัยแบบเครือข่ายสหสาขาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาใหญ่ของประเทศ เพื่อนำองค์ความรู้ทั้งหมดมาใช้ในทางคลินิก หรือประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาคนไข้ต่อไปในอนาคตให้ดีขึ้น

Recent post