ม.มหิดลพัฒนางานเวชระเบียน “ระบบอิเลคทรอนิกส์เวชระเบียนงานระงับความรู้สึกศิริราช”

พิธีเปิดงาน “กยศ.รวมใจ ปันโลหิต ต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ ปีที่ 5”
April 24, 2018
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการ MU Grad Quality Assurance
April 25, 2018

ม.มหิดลพัฒนางานเวชระเบียน “ระบบอิเลคทรอนิกส์เวชระเบียนงานระงับความรู้สึกศิริราช”

reward1

ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้นระบบอิเลคทรอนิกส์เวชระเบียนงานระงับความรู้สึกศิริราช ลดขั้นตอนในการบันทึกเวชระเบียนงานระงับความรู้สึก ป้องกันความคลาดเคลื่อนและการสูญหายของข้อมูล ทั้งยังตอบสนองนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 ที่มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม และการเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล

นางสุดตา ปรักกโมดม พยาบาลผู้ชำนาญการพิเศษ ผู้คิดค้นพัฒนาระบบนี้กล่าวว่า “ระบบอิเลคทรอนิกส์เวชระเบียน งานระงับความรู้สึกศิริราช (Siriraj Anesthesia-Electronic Medical Record : SiAEMR) เป็นโปรแกรมเวชระเบียนทางการแพทย์ โดยมีคณะทำงานอีก 2 ท่าน คือ ศ.ดร.นพ.พงศ์ธารา วิจิตรเวชไพศาล, นพ.อรรณพ พิริยะแพทย์สม ร่วมคิดและพัฒนาขึ้นมา ทดแทนการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับบริการงานระงับความรู้สึกด้วยกระดาษ ซึ่งมีปริมาณมากวันละกว่า 250 ราย หรือปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ราย โดยมีวิสัญญีแพทย์และวิสัญญีพยาบาลผู้ให้บริการระงับความรู้สึกผู้ป่วย เป็นผู้บันทึกข้อมูลลงแบบบันทึกในกระดาษ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ จะเป็นผู้คัดลอกข้อมูลผู้ป่วยลงในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อรวบรวมเป็นรายงานสถิติข้อมูลและเก็บเป็นหลักฐานทางการแพทย์ตามกฏหมาย ซึ่งข้อมูลในแต่ละวันมีปริมาณมาก บางครั้งผู้บันทึกข้อมูลบันทึกไม่ครบหรือบันทึกข้อมูลด้วยลายมือที่ไม่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำงานให้เสร็จสิ้นได้ทันเวลาที่กำหนด รวมทั้งปริมาณกระดาษจำนวนกว่า 400,000 แผ่นต่อปี และไม่มีสถานที่เก็บ จึงต้องทำการสแกนเก็บเป็นอิเลคทรอนิกส์ไฟล์ และส่งกระดาษทำลาย เราจึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนเป็นอิเลคทรอนิกส์เวชระเบียน ซึ่งโปรแกรมสำเร็จรูปของต่างประเทศมีราคาแพงมาก ถ้าจะปรับให้เข้ากับการทำงานของเราก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงมีความคิดจะพัฒนาขึ้นเอง ซึ่งถ้าสำเร็จจะเกิดประโยชน์ต่องานวิสัญญีและสาธารณสุขของประเทศในวงกว้าง ประหยัดเวลา การส่งผ่านข้อมูลอัตโนมัติ ทดแทนการลงบันทึกด้วยลายมือ ในระหว่างผ่าตัด การเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ ด้วยความสะดวกรวดเร็ว เพื่อการสืบค้น การบริหารงานเชิงนโยบาย การทำรายงานประจำปี การศึกษา การวิจัย ที่สำคัญคือการเพิ่มโอกาสให้แพทย์พยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งปัจจุบันเรานำโปรแกรมนี้ไปใช้ ณ ห้องผ่าตัดสูติ – นรีเวชวิทยา อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ โรงพยาบาลศิริราชแล้ว”

นางสุดตา ยังกล่าวอีกว่าระบบอิเลคทรอนิกส์เวชระเบียนงานระงับความรู้สึกศิริราช คือ “ระบบอำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยตลอดกระบวนการเข้ารับบริการงานระงับความรู้สึก คือ ก่อน ระหว่าง และหลังการผ่าตัด ซึ่งโปรแกรมมีมาตรฐานความเป็นสากล ด้วยลักษณะการใช้งานที่ง่าย สะดวก มีชั้นการเข้าใช้ที่แตกต่างกัน ด้วยมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะเผยแพร่ให้กับหน่วยงานวิสัญญีตามโรงพยาบาลสาธารณสุขทุกระดับทั่วประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายข้อมูลสาธารณสุขให้กับประเทศด้วย”

จากการศึกษาคิดค้น พัฒนาระบบอิเลคทรอนิกส์เวชระเบียนและใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือตรวจสอบประสิทธิภาพของโปรแกรม ทำให้ “ระบบอิเลคทรอนิกส์เวชระเบียนงานระงับความรู้สึกศิริราช” ของภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2561 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวมหิดลทุกคน

Recent post