ศ.พิเศษ พญ.เพ็ญแข ลิ่มศิลา รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ในฐานะคุณหมอผู้บุกเบิกการรักษาเด็กออทิสติก

ม.มหิดลรับมอบป้ายศูนย์พัฒนาและประเมินทักษะดิจิทัลมหาวิทยาลัยมหิดล ตามมาตรฐาน ICDL (MAHIDOL-ICDL Accredited Test Centre)
March 28, 2018
AUN-QA Chief Quality Officers Meeting 2018
March 28, 2018

ศ.พิเศษ พญ.เพ็ญแข ลิ่มศิลา รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ในฐานะคุณหมอผู้บุกเบิกการรักษาเด็กออทิสติก

penkae3

สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์    มอบรางวัล “มหิดลทยากร” ประจำปี 2560 เพื่อเชิดชูเกียรติแก่ศาสตราจารย์พิเศษ แพทย์หญิงเพ็ญแข  ลิ่มศิลา ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรม คุณธรรม บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม และประสบผลสำเร็จทางด้านวิชาการ และการดำรงชีวิต เป็นที่ยอมรับ ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และสาธารณชนทั่วไป โดยมอบรางวัลไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 เนื่องในงาน 49 ปี วันพระราชทานนาม 130 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แพทย์หญิงเพ็ญแข  ลิ่มศิลา เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2480 จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อปี พ.ศ. 2505 ปริญญามหาบัณฑิตวิทยาศาสตรการแพทย์คลินิก สาขาจิตเวชเด็ก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2519 และไปฝึกอบรม “Neuropsychiatry” The National Children Hospital ประเทศญี่ปุ่น  ปี พ.ศ. 2533 ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษสาขาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่โรงพยาบาลเด็ก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ. 2506 ต่อมาย้ายไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2507-2510 ได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้น มาประจำที่โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ระหว่าง พ.ศ. 2534 – 2541 และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน เป็นจิตแพทย์ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นของแพทยสภา ปี พ.ศ. 2541 และรับประกาศนียบัตรที่ได้              ทุ่มเท เสียสละ อุทิศตน ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคคลออทิสติกอย่างดียิ่ง จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน จากมูลนิธิคุณพุ่ม ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เมื่อปี พ.ศ. 2555

ศ.พญ.เพ็ญแข เป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้บุกเบิกการรักษา “ออทิสติก”      สนใจศึกษาโรคนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องมากว่า 50 ปี กล่าวถึง สาเหตุของโรคออทิสติก ว่าเกิดได้จากทั้งกรรมพันธุ์ และปัจจัยอื่นที่ไปกระทบการทำงานของสมองเด็ก ให้หยุดยั้งการพัฒนา ตั้งแต่ในเด็กอยู่ในครรภ์ของมารดา พ่อและแม่ของเด็กมีบทบาทสำคัญมาก ในการร่วมบำบัดรักษา ต้องสังเกตและบอกเล่าอาการและพฤติกรรมของเด็กได้อย่างละเอียด โดยสังเกตพัฒนาการของลูกได้ใน 3 ด้าน คือ ด้านสังคม การพูด การสื่อสาร พฤติกรรม และอารมณ์

ในประเทศไทยพบอัตราป่วยโรคออทิสติกได้ 6 คนในประชากรทุกๆ 1,000 คน คาดว่าทั่วประเทศจะมีเด็กป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 300,000 คน ในจำนวนนี้ยังเข้าถึงบริการน้อยมาก ประมาณร้อยละ 10 หรือปีละเพียง 30,000 กว่าคนเท่านั้น ศ.พญ.เพ็ญแข เริ่มรักษาผู้ป่วยออทิสติกตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีตำรากล่าวถึงวิธีการรักษาอย่างละเอียด จึงคิดวิธีการรักษาเด็กโดยเน้นการ “พร่ำสอน สิ่งที่เด็กยังไม่พัฒนา” ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทน เนื่องจากเด็กเหล่านี้มีพัฒนาการล่าช้า หัวใจในการรักษาจะต้องมุ่งที่เด็กเป็นสำคัญ หมอต้องสังเกตว่าแต่ละคนยังขาดพัฒนาการในด้านใด แล้วจะต้องกระตุ้นด้วยวิธีใด หมอจะสอนวิธีการต่างๆ ให้พ่อและแม่นำไปฝึกพัฒนาการลูกที่บ้าน เช่น การให้นมลูก จะต้องเร้าให้เด็กมองหน้าแม่ ใช้การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางหู โดยกระซิบหรือเปิดเพลงเบาๆ ให้เขาฟัง เด็กจะชอบดนตรีเป็นส่วนมาก และมีความสนใจ จนเกิดวิธีการใช้ดนตรีบำบัดสำหรับเด็กออทิสติก รวมถึงเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ พ่อ แม่ และครอบครัว โดยมีเป้าหมายในการรักษาเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย ให้สามารถเติบโตและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ นอกจากนี้ ศ.พญ.เพ็ญแข ยังนึกถึงเด็กผู้ป่วยในต่างจังหวัด หรือพื้นที่ห่างไกล จึงได้จัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับโรคนี้ให้แก่บุคลากรของโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค เพื่อให้แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งผู้ปกครอง ได้รับความรู้ เพื่อที่จะสามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ในระยะแรกเริ่ม และสามารถให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นได้

ศ.พญ.เพ็ญแข มีหลักในการทำงานที่ได้เรียนรู้และยืดถือปฏิบัติจากอาจารย์ผู้สอนหลายท่านตั้งแต่สมัยศึกษาอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและขณะที่ปฏิบัติงานเป็นแพทย์ประจำบ้านโรงพยาบาลเด็กมาเป็นแบบอย่าง คุณหมอจึงทำงานด้วยความอดทน ใส่ใจ ตั้งใจ และเสียสละ พร้อมที่จะรักษาผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าผู้ป่วยจะมาจากที่ใดก็ตาม มีความขยัน หมั่นเรียนรู้ ใฝ่รู้ ศึกษาผลจากการรักษาอาการเด็กที่แตกต่างกัน เพื่อหาวิธีการที่ดีและเหมาะสมเอามาปรับใช้ หรือถ้ารักษาแล้วยังไม่ได้ผลที่ดีนัก ก็จะนำมาวิเคราะห์หาหนทางใหม่ในการรักษา เพื่อเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด นอกจากนี้ คุณหมอได้ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาควบคู่ไปด้วย นั่นคือ พรหมวิหาร 4 ซึ่งประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ศ.พญ.เพ็ญแข กล่าวว่า รู้สึกปลื้มใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับรางวัล “มหิดลทยากร” ในปีนี้ ขอบคุณที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นคุณค่าและประโยชน์ที่คุณหมอได้ทำต่อวงการแพทย์ และวงการจิตเวชเด็ก ทำให้มีกำลังใจ เป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้หมอยังคงทำงานต่อไป และในอนาคตหมอกำลังจะเขียนหนังสือ “จากตำราสู่ประสบการณ์การดูแลเด็กออทิสติก 50 ปี” รวบรวมประสบการณ์จากการรักษาเด็กออทิสติกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อเป็นประโยชน์แก่แพทย์ ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป

Recent post