คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือในการร่วมวิจัยและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์

คณะผู้บริหาร ม.มหิดล รับฟังข้อตกลงการปฏิบัติงานของส่วนงาน (PA Visit) คณะสัตวแพทยศาสตร์
November 12, 2019
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมประชุม “The Temasek Foundation Conceive-Design-Implement-Operate (CDIO) Forum 2019” ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
November 13, 2019

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือในการร่วมวิจัยและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์

ai13

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการร่วมวิจัย และพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรังสีวินิจฉัย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และน.ส.สุพิชญา พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด  ลงนามในบันทึกข้อตกลง  ในโอกาสนี้ ดร.วราสิณี ฉายแสงมงคล อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  รองศาสตราจารย์ นพ.พิพัฒน์ เชี่ยววิทย์ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รองศาสตราจารย์ นพ.ตรงธรรม ทองดี รองหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และผู้บริหารทั้งสององค์กรร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 1 ตึกอำนวยการ ชั้น 3 โรงพยาบาลศิริราช   

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านวิจัยพัฒนาสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ระหว่างบุคคลากรของทั้งสองฝ่าย ในด้านการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ด้านรังสีวิทยา เพื่อการอ่านผลภาพทางการแพทย์ และสร้างรายงานทางการแพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอกเบื้องต้นอย่างถูกต้องและแม่นยำตามหลักวิชาและมาตรฐานทางการแพทย์

ในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับการแพทย์ในหลายภาคส่วน แต่ก็ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้งานในโรงพยาบาลอย่างจริงจัง เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น ความน่าเชื่อถือของระบบปัญญาประดิษฐ์ ความถูกต้องแม่นยำ รวมถึงการใช้งานที่ยังไม่สะดวกเท่าที่ควร ดังนั้นความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานจะช่วยพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงการช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)

โดยในปี พ.ศ. 2562 บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด  ได้พัฒนาโซลูชันปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ เป็นโมเดลการเรียนรู้เชิงลึกที่สามารถคัดกรองโรคจากภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกได้ 14 สภาวะ ที่แพทย์ทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ผ่านเว็บแอปพลิเคชันที่มีระบบการรักษาความปลอดภัยสูง ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์รังสีวิทยา สามารถเข้าถึงบริการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้มากขึ้น ช่วยให้การตรวจพบความผิดปกติของปอดในระยะเริ่มต้นมีโอกาสสูงมากขึ้น โดยคาดว่าจะเปิดตัวแอปพลิเคชันให้โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน รถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ได้ใช้ภายในต้นปี พ.ศ. 2563

Recent post