นศ.มหิดล คว้ารางวัลนานาชาติ พัฒนาผงขัดผิวจากเปลือกส้มโอแห้ง ลดปัญหาขยะและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

มหาวิทยาลัยมหิดล จัด “พิธีไหว้ครู” นักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2562
September 12, 2019
นพ.ธิษณะ ประสาทเสรี ได้รับรางวัลบัณฑิตดีเด่นยอดเยี่ยม สาขาแพทยศาสตร์ ปี 2562
September 13, 2019

นศ.มหิดล คว้ารางวัลนานาชาติ พัฒนาผงขัดผิวจากเปลือกส้มโอแห้ง ลดปัญหาขยะและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

award4

นักศึกษา ม.มหิดล คว้ารางวัลระดับนานาชาติ จากการลงพื้นที่ชุมชน ต.บางสะแก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม แล้วพบว่าชุมชนมีปัญหาขยะกว่าร้อยตันจากเปลือกส้มโอ จึงได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เสนอแนวคิดเพิ่มมูลค่าพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ “โอผง” (OPONG) ผงขัดผิวจากเปลือกส้มโอแห้ง สร้างรายได้ให้กับชุมชน

นางสาวกุลนวมินทร์ ปะวะเสนัง หรือ “กิ๊ฟท์” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ “โอผง” (OPONG) ผงขัดผิวจากเปลือกส้มโอแห้ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในชุมชน ที่พัฒนาขึ้นโดยร่วมกับสมาชิกนักศึกษาต่างชาติในกลุ่มจากประเทศจีน ไต้หวัน เนปาล และฟิลิปปินส์ ภายใต้ชื่อกลุ่ม BSK 1″ ในโครงการ Asia Pacific Youth Exchange (APYE) ซึ่งเป็นโครงการเยาวชนแลกเปลี่ยนเอเชียแปซิฟิก จัดโดยองค์กร Urban Youth Academy ในความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เมื่อเร็วๆ นี้

โดยเป็น 1 ใน 6 จาก 36 ทีมที่ชนะในโครงการ APYE จากตัวแทนเยาวชน 120 คน ที่ได้ใช้เวลาใน 4 ชุมชน ได้แก่ บางสะแก และเพียรหยดตาล จังหวัดสมุทรสงคราม หนองแสง จังหวัดนครนายก และห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ศึกษาข้อมูลของแต่ละชุมชนเพื่อเสนอไอเดียพัฒนาชุมชนในรูปแบบ pitching ต่อคณะกรรมการผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในชุมชน

กิ๊ฟท์เล่าว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับสมาชิกนักศึกษาต่างชาติในกลุ่ม BSK 1 พบปัญหาขยะจากเปลือกส้มโอที่มีจำนวนมากกว่าร้อยตันในแต่ละปี เนื่องจากชาวบางสะแกมีอาชีพหลักจากการทำสวนส้มโอ ส่งจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในแบบที่เป็นส้มโอทั้งลูก และส้มโอปอกเปลือกใส่บรรจุภัณฑ์ โดยชุมชนต้องประสบกับปัญหาขยะและไม่รู้วิธีการจัดการ กลุ่ม BSK 1 จึงได้ร่วมกันศึกษาข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของเปลือกส้มโอ ซึ่งพบว่าเปลือกส้มโอแห้งเป็นตัวขัดผิวโดยธรรมชาติที่สามารถช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และทำให้ผิวกระจ่างใส จึงได้พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ “โอผง” (OPONG) เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

แนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “โอผง” (OPONG) ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชุมชน และเป็นที่สนใจของคณะกรรมการ โดยสามารถตอบโจทย์ในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในงาน Asia Pacific Youth Exchange – Thailand  โดยเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผ่านการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม

“รู้สึกภูมิใจมากที่ได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อชุมชน และสามารถนำไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้ด้วย เพียงแค่ระยะเวลาไม่กี่วันพวกเราสามารถตอบโจทย์ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยทำให้คนในชุมชนยอมรับในความมุ่งมั่นและความพยายามในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมของพวกเราได้” กิ๊ฟท์กล่าวทิ้งท้ายด้วยความเชื่อมั่น

Recent post