นักศึกษา ม.มหิดล คว้ารางวัลระดับนานาชาติ จากการลงพื้นที่ชุมชน ต.บางสะแก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม แล้วพบว่าชุมชนมีปัญหาขยะกว่าร้อยตันจากเปลือกส้มโอ จึงได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เสนอแนวคิดเพิ่มมูลค่าพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ “โอผง” (OPONG) ผงขัดผิวจากเปลือกส้มโอแห้ง สร้างรายได้ให้กับชุมชน
นางสาวกุลนวมินทร์ ปะวะเสนัง หรือ “กิ๊ฟท์” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ “โอผง” (OPONG) ผงขัดผิวจากเปลือกส้มโอแห้ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในชุมชน ที่พัฒนาขึ้นโดยร่วมกับสมาชิกนักศึกษาต่างชาติในกลุ่มจากประเทศจีน ไต้หวัน เนปาล และฟิลิปปินส์ ภายใต้ชื่อกลุ่ม “BSK 1″ ในโครงการ Asia Pacific Youth Exchange (APYE) ซึ่งเป็นโครงการเยาวชนแลกเปลี่ยนเอเชียแปซิฟิก จัดโดยองค์กร Urban Youth Academy ในความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เมื่อเร็วๆ นี้
โดยเป็น 1 ใน 6 จาก 36 ทีมที่ชนะในโครงการ APYE จากตัวแทนเยาวชน 120 คน ที่ได้ใช้เวลาใน 4 ชุมชน ได้แก่ บางสะแก และเพียรหยดตาล จังหวัดสมุทรสงคราม หนองแสง จังหวัดนครนายก และห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ศึกษาข้อมูลของแต่ละชุมชนเพื่อเสนอไอเดียพัฒนาชุมชนในรูปแบบ pitching ต่อคณะกรรมการผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในชุมชน
กิ๊ฟท์เล่าว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับสมาชิกนักศึกษาต่างชาติในกลุ่ม BSK 1 พบปัญหาขยะจากเปลือกส้มโอที่มีจำนวนมากกว่าร้อยตันในแต่ละปี เนื่องจากชาวบางสะแกมีอาชีพหลักจากการทำสวนส้มโอ ส่งจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในแบบที่เป็นส้มโอทั้งลูก และส้มโอปอกเปลือกใส่บรรจุภัณฑ์ โดยชุมชนต้องประสบกับปัญหาขยะและไม่รู้วิธีการจัดการ กลุ่ม BSK 1 จึงได้ร่วมกันศึกษาข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของเปลือกส้มโอ ซึ่งพบว่าเปลือกส้มโอแห้งเป็นตัวขัดผิวโดยธรรมชาติที่สามารถช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และทำให้ผิวกระจ่างใส จึงได้พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ “โอผง” (OPONG) เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
แนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “โอผง” (OPONG) ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชุมชน และเป็นที่สนใจของคณะกรรมการ โดยสามารถตอบโจทย์ในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในงาน Asia Pacific Youth Exchange – Thailand โดยเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผ่านการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม
“รู้สึกภูมิใจมากที่ได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อชุมชน และสามารถนำไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้ด้วย เพียงแค่ระยะเวลาไม่กี่วันพวกเราสามารถตอบโจทย์ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยทำให้คนในชุมชนยอมรับในความมุ่งมั่นและความพยายามในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมของพวกเราได้” กิ๊ฟท์กล่าวทิ้งท้ายด้วยความเชื่อมั่น