มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดโครงการพันธกิจสัมพันธ์ Eco Town มหิดลกับชุมชน (โครงการส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารขยะรีไซเคิลให้กับโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา และโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล)

มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการ “เวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทยยุค ๔.๐”(Precision Medicine in Thailand 4.0)
August 6, 2019
มหาวิทยาลัยมหิดลต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
August 7, 2019

มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดโครงการพันธกิจสัมพันธ์ Eco Town มหิดลกับชุมชน (โครงการส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารขยะรีไซเคิลให้กับโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา และโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล)

bank08

วันที่  6  สิงหาคม  2562  มหาวิทยาลัยมหิดลได้สานต่อโครงการพันธกิจสัมพันธ์ Eco Town มหิดลกับชุมชน  โดยได้รับเกียรติจาก ร้อยตรีพงศธร  ศิริสาคร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม  กล่าวเปิดในโครงการพันธกิจสัมพันธ์ Eco  Town   มหิดลกับชุมชน กิจกรรมส่งเสริมการจัดตั้งโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลในโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยาและโรงเรียนนวมินราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล กรุงเทพมหานคร  โดยมีนายวิวัฒน์  ชูศรีจันทร์  ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา  กล่าวต้อนรับ  และรองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร  จามรดุสิต  รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน  มหาวิทยาลัยมหิดล   กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการพันธกิจสัมพันธ์  Eco Town มหิดลกับชุมชน  หลังจากนั้นเป็นการมอบป้ายโครงการฯ ให้กับทั้ง 2 โรงเรียน  ณ  หอประชุมพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ โรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา

          สำหรับโครงการพันธกิจสัมพันธ์  Eco   Town มหิดลกับชุมชน กิจกรรมส่งเสริมการจัดตั้งโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลในโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยาและโรงเรียนนวมินราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล กรุงเทพมหานคร  นั้น  เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องของการคัดแยกขยะและการจัดทำโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลสู่โรงเรียนมัธยม ต้นแบบ รวมทั้งเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนและโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายและเกิดเครือข่าย การทำงานด้านพันธกิจสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับชุมชน และสอดคล้องตามแนวนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย

นายชาญนะ  เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม  กล่าวว่า ปัญหาการจัดการขยะเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติและได้มีมติเห็นชอบ roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการ 4 ขั้นตอน ได้แก่ การจัดการขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่วิกฤตซึ่งเป็นขยะมูลฝอยเก่า   การสร้างรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายซึ่งเป็นขยะมูลฝอยใหม่  วางระเบียบมาตรการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และการสร้างวินัยของคนในชาติมุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน  ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล ถ่ายทอดความรู้พร้อมกับการสาธิตและแนะแนวทางการดำเนินโครงการฯ ตลอดจนการให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติและเกิดความยั่งยืนในการดำเนินโครงการให้แก่โรงเรียนแล้ว นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมหิดลยังสนับสนุนวัสดุและอุปกรณ์ในการจัดตั้งธนาคารขยะรวมไปถึงระบบการบริหารจัดการขยะ โดยมีเป้าหมายในการสร้างเสริมความรู้และความเข้าใจให้นักเรียน/ครูและผู้ปกครอง ได้มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ และเกิดรายได้จากขยะที่ผ่านการคัดแยก เป็นการเริ่มต้นจากเยาวชนสู่ชุมชน   จะสามารถสร้างจิตสำนึกและเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะด้วยการรู้ค่าของขยะรีไซเคิล และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาความสะอาดภายในครอบครัว โรงเรียน ชุมชนของตัวเองเพื่อดำรงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมที่ดีจะส่งผลให้สุขภาพจิตดี สุขภาพร่างกายแข็งแรง ชุมชนน่าอยู่ปราศจากมลพิษ

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร  จามรดุสิต  รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน  มหาวิทยาลัยมหิดล    กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายส่งเสริมการสร้างมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์ (Eco University) โดยมีเป้าหมายชัดเจนของการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ได้มีการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ  ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนนโยบาย อาทิ โครงการผักปลอดสารพิษ โครงการจัดทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ โครงการจักรยานสาธารณะ โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล เป็น ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้จัดทำโครงการ Eco Town มหิดลกับชุมชน  เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยมาถ่ายทอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน  โดยในเบื้องต้นได้นำโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล  ซึ่งมีจุดเด่นในการนำซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เข้ามาจัดเก็บข้อมูลสมาชิก ข้อมูลปริมาณขยะและข้อมูลการฝากถอนเงินของสมาชิก ทำให้เกิดการบริหารจัดการฐานข้อมูลการคัดแยกขยะที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ สามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มาขยายเครือข่ายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนและชุมชน  โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ในปี 2559 ได้ส่งเสริมการจัดตั้งโครงการให้กับโรงเรียนต้นแบบในระดับปฐมศึกษา ได้แก่ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล จังหวัดนครปฐม ในปี 2560 ได้ขยายเครือข่ายโครงการต่อไปยังโรงเรียนวัดมะเกลือ,โรงเรียนวัดสุวรรณาราม,โรงเรียนวัดทรงคะนอง จังหวัดนครปฐม และในปี 2561 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) โดยให้การสนับสนุนในการขยายเครือข่ายโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล จำนวน 12 โรงเรียนในจังหวัดระยอง  พร้อมกับการส่งเสริมการจัดตั้งโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลให้กับโรงเรียนต้นแบบในระดับมัธยมศึกษาได้แก่  โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และโรงเรียนมัธยมปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ   และในปี 2562 นี้มหาวิทยาลัยได้สานต่อแนวนโยบาย และขยายเครือข่ายโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล   อีกจำนวน 2 โรงเรียน  ได้แก่  โรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา   และโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ  สตรีวิทยา พุทธมณฑล

Recent post