วิศวะฯ มหิดล คิดค้น “MOVDIFY SYSTEM” เครื่องทำกายภาพบำบัดด้วยตนเอง

มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางเยือนและเจรจาความร่วมมือกับ Academia Sinica, National Taiwan University และ National Yang Ming University ณ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
October 9, 2019
งานแสดงมุทิตาจิต รองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี ผู้พัฒนาและก่อตั้งสาขาวิชาการและงานวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย
October 10, 2019

วิศวะฯ มหิดล คิดค้น “MOVDIFY SYSTEM” เครื่องทำกายภาพบำบัดด้วยตนเอง

74904

ปกติเวลาที่มีผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือขยับตัวไม่สะดวก จำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ จากการสำรวจข้อมูลในปัจจุบันพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การรักษาไม่ประสบผลสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำกายภาพบำบัดในบ้านเราจำเป็นต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล และจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ในแต่ละวันผู้ป่วยแต่ละคนต้องเดินทางไปกลับเพื่อรับการรักษา รวมถึงต้องใช้เวลาในการต่อคิวทำกายภาพบำบัดนานหลายชั่วโมงต่อวัน ทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ผู้ป่วยบางคนต้องมาทำกายภาพบำบัดอย่างน้อย 2-3 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งถ้าลดเวลาตรงนี้ได้ผู้ป่วยก็จะได้รับการกายภาพบำบัดได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

MOVDIFY SYSTEM” เครื่องทำกายภาพบำบัดด้วยตนเอง จึงถูกประดิษฐ์ขึ้น โดยทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ร่วมกับ คณาจารย์และทีมแพทย์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บนแนวคิดที่ว่าอยากทำอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกายภาพบำบัดที่บ้านได้ และสามารถทำได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล นอกจากนี้แพทย์ที่ทำการรักษา ยังสามารถติดตามผลการรักษา และพัฒนาการของผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดอยู่ที่บ้านได้

นายณัฐภัทร  ตันจริยภรณ์ หนึ่งในทีมผู้ประดิษฐ์เปิดเผยว่า หลักการทำงานของเครื่องนี้คือ เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแพทย์จะแจกเครื่องมือตัวนี้ให้แก่ผู้ป่วย โดยสวมเครื่องนี้เข้ากับตัวผู้ป่วย และทำการเชื่อมต่อสัญญาณเข้ากับจุดต่างๆของร่างกายที่เราต้องการทำกายภาพบำบัด จากนั้นเราจะให้ผู้ป่วยเล่นเกมในแอปพลิเคชันที่เราออกแบบ โดยการเลียนแบบท่าทางที่ใช้ในการกายภาพบำบัด เมื่อเล่นเกมเสร็จโปรแกรมจะประมวลผล และส่งสรุปผลทั้งหมดไปยังแพทย์ที่ทำการรักษาผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต โดยเบื้องต้นได้มีการทดลองใช้กับผู้ป่วยแล้วพบว่า ผู้ป่วยรู้สึกสะดวกสบายมากขึ้น สามารถทำกายภาพเองที่บ้านได้ แต่อาจต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติม ในส่วนของตัวเครื่องที่ยังมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากอยู่ รวมไปถึงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้สามารถใช้งานได้ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพกับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางต่อไป

Recent post