เป็นที่คาดกันว่าปี 2020 เป็น “ปีแห่งเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย 5G” โดยจะส่งผลให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ตามมาอีกมากมาย ด้วยวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งสู่การเป็น World Class University ส่งเสริมการศึกษายุคใหม่ด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับคนรุ่นใหม่ ในยุคที่การสื่อสาร 5G ได้เข้ามาทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญกับการเรียนรูปแบบใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดทําข้อตกลงร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ Digital Convergence University (DCU)โดยมีระบบ Virtual Classroom หรือ ห้องเรียนเสมือนจริง เป็น 1 ในโครงการ โดยมีการใช้ระบบ WebEx ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการเรียนการสอน ทำให้อาจารย์และนักศึกษาสามารถสื่อสารระหว่างกันได้แบบไร้สาย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ด้วยเทคโนโลยี WebEx จะสามารถช่วยในการเรียนการสอนทางไกลสำหรับอาจารย์และนักศึกษาโดยสามารถมองเห็นไฟล์หรือเอกสารจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้สอน รวมถึงภาพวิดีโอผ่านอินเตอร์เน็ต และสามารถพูดคุยโต้ตอบจากที่บ้าน ที่มหาวิทยาลัยจากต่างวิทยาเขต และทุกที่ที่มีอินเตอร์เน็ต โดยมีการใช้งานที่ครอบคลุมทั้ง วิดีโอ เว็บ และ เสียง กับทุกอุปกรณ์ (PC, Tablet, Smartphone) ด้วยคุณภาพวิดีโอระดับ High Quality และสามารถรองรับผู้เรียนได้ถึง 250 คน
ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินโครงการ Virtual Classroom โดยติดตั้งอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารทางไกลและอุปกรณ์ระบบภาพและเสียง เพื่อให้มีความเหมาะสมสําหรับการใช้งานในการเรียนการสอนทางไกลที่สมบูรณ์แบบ จำนวน 4 แห่งที่ 1.มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อาคารศูนย์การเรียนรู้ ชั้น 2 ห้องมินิเธียเตอร์ (MU Cyber Club) ความจุ 30 ที่นั่ง 2.มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อาคารเรียนรวม ห้องประชุมนิลกาญจน์ ความจุ 120 ที่นั่ง 3.มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอํานาจเจริญ อาคารเรียนรวม ห้อง 2260 ความจุ 64 ที่นั่ง และ 4.มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ อาคารวิทยาศาสตร์อเนกประสงค์ อาคารที่ 6 ชั้น 2 ห้อง smart class room ความจุ 40 ที่นั่ง
และเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต ได้ทดลองทดสอบระบบจากการจัดการเรียนการสอนวิชา “ทันตกรรมรากเทียมเบื้องต้น” (Treatment Planning for Dental Implant) ให้กับนักศึกษาทันตแพทย์ โดยเป็นการสอนข้ามวิทยาเขต ระหว่างศาลายา และพญาไท ซึ่งเป็นการสื่อสารสองทาง ที่สามารถถาม-ตอบ ทำโพลล์ และบันทึกดูย้อนหลังได้ โดยจากทดสอบระบบพบว่าไม่มีการสะดุด เหมือนเรียนอยู่ในห้องเดียวกันจริง
“การเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาให้ทันต่อการศึกษายุคใหม่ที่เน้นความสามารถในการปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้มีการปรับการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่น โดยให้อิสระกับนักศึกษาได้ศึกษาด้วยตัวเองตามศักยภาพที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน โดยเชื่อว่าความรู้มีอยู่ทุกที่ และผู้เรียนจะสามารถเรียนได้ดีเมื่อมีความพร้อม ซึ่งการเรียนการสอนแบบทางไกลนี้จะช่วยลดการเดินทาง ให้นักศึกษาสามารถเรียนจากที่บ้านในวันที่มลภาวะทางอากาศสูง หรือการจราจรติดขัด โดยในอนาคตจะมีการใช้ระบบนี้มากขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าว