พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านธนาคารชีวภาพเพื่อโรคมะเร็งแบบครบวงจร ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2562
December 4, 2019
คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเยี่ยมส่วนงาน ครั้งที่ 2/2562 (Council Visit) ณ บัณฑิตวิทยาลัย
December 4, 2019

พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านธนาคารชีวภาพเพื่อโรคมะเร็งแบบครบวงจร ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

Rama MOU_191204_0007

วันที่ 4 ธันวาคม 2562 ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมจัดงานแถลงข่าว พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านธนาคารชีวภาพเพื่อโรคมะเร็งแบบครบวงจร ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ณ ห้องประชุม 816 ชั้น 8 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งรายใหม่และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นจำนวนมากกว่า 3,800 รายต่อปี ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง คณะฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในด้านดังกล่าวและได้จัดให้มี ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (Ramathibodi Comprehensive Tumor Biobank) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะใช้ต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ได้เองในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านการวินิจฉัยและการรักษามะเร็งได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีตัวอย่างทางคลินิกต่าง ๆ เช่นชิ้นเนื้อมะเร็งและเลือด ที่ถูกเก็บไว้ในธนาคารชีวภาพจากผู้ป่วยมะเร็งทั้งสิ้น 2,000 ราย จากการดำเนินงานทั้งหมด 5 ปี ความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จะทำให้ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร เกิดการพัฒนารูปแบบบูรณาการทั้งด้านการศึกษา วิจัย และวิชาการ จากการใช้ฐานข้อมูลและตัวอย่างทางคลินิกร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการร่วมพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทย รวมทั้งยังสามารถเป็นต้นแบบที่สำคัญให้แก่องค์กรหรือหน่วยงานอื่น ๆ ในด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งรวมถึงโรคเรื้อรังที่มีค่ารักษาพยาบาลสูงต่อไปได้ในอนาคต อีกทั้ง ความร่วมมือกันระหว่างสององค์กรทางด้านสุขภาพ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการวินิจฉัยและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยไปสู่งานบริการร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทยที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีตามมาตรฐานสากล

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเจตนารมณ์สำคัญในความร่วมมือครั้งนี้ว่า สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจหลักในการผลิตและพัฒนาองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีด้านโรคมะเร็งเพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สามารถถ่ายทอดสู่เครือข่ายองค์กร บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ตลอดจนให้บริการทางการแพทย์อย่างเหมาะสม โรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับหนึ่งของคนไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ปัจจุบันพบผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 122,757 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตราว 73,000 คน โรคมะเร็งนอกจากจะเป็นปัญหาการเจ็บป่วย และเสียชีวิตแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สถาบันมะเร็งแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง จึงมีการดำเนินงานในด้านการป้องกันและควบคุมโรคตลอดมา นับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือทางวิชาการ และการบูรณาการความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร ด้วยเจตนารมณ์ที่สอดคล้องในการพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการและบริการทางการแพทย์ของหน่วยงานทั้งสอง จะนำไปสู่การผลิตผลงานวิชาการ การวิจัยและพัฒนา อันจะนำมาสู่ประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยที่จะได้รับบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานสากล

Recent post