คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับ ผู้เชี่ยวชาญสาธารณรัฐประชาชนจีน พัฒนางานวิจัยทางคลินิกด้าน “ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง (Cancer Immunotherapy)” การรักษาโรคมะเร็งแนวใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย

คณะนักร้องประสานเสียงแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ร้องเพลงอวยพรผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องในวันคริสต์มาส
December 23, 2019
มหาวิทยาลัยมหิดลจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Preparation for TQA 2020: PREP4TQA 2020”
December 23, 2019

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับ ผู้เชี่ยวชาญสาธารณรัฐประชาชนจีน พัฒนางานวิจัยทางคลินิกด้าน “ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง (Cancer Immunotherapy)” การรักษาโรคมะเร็งแนวใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย

2498_0

วันที่ 23 ธันวาคม 2562 ศาสตราจารย์  ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Professor Dr. Lung – Ji Chang ประธานสถาบัน Geno-Immune Medical Institute (GIMI) สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมมือดำเนินการวิจัยระดับคลินิกด้านภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง (Cancer Immunotherapy) ณ ห้องประชุมตึกอำนวยการ ชั้น 2 รพ.ศิริราช

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) นี้ จะนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) การผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที-เซลล์ (T-cells) ที่มีการดัดแปลงโมเลกุลรับสัญญาณให้เป็นแบบลูกผสม (Chimeric Antigen Receptor T-cells หรือ CAR T-cells) จากผู้เชี่ยวชาญของสถาบัน GIMI และทดสอบประสิทธิภาพในการต่อต้านโรคมะเร็งในระดับคลินิก ณ โรงพยาบาลศิริราช ต่อไป

ที-เซลล์ที่มีการดัดแปลงโมเลกุลรับสัญญาณให้เป็นแบบลูกผสม (CAR T-cells) นี้ ถือเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งแนวใหม่ เรียกว่า “เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด (Cellular immunotherapy)” ซึ่งผลิตจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่แยกมาจากเลือดของผู้ป่วยและนำมาดัดแปลงด้วยวิธีทางอณูชีววิทยา (Molecular biology) ให้สามารถจดจำเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะ มีความสามารถในการกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น และใส่กลับไปในร่างกายของผู้ป่วยเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง วิธีการรักษานี้จึงมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากเซลล์ภูมิคุ้มกันที่นำมาเปลี่ยนแปลงภายนอกร่างกายและใส่กลับให้ผู้ป่วยนั้นเป็นเซลล์ของผู้ป่วยเอง การใช้ CAR T-cells ในการรักษาโรคมะเร็งได้รับการรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยในผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในรูปแบบของ Living drug จากองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ CAR T-cells ที่ถูกดัดแปลงให้มีความจำเพาะต่อโปรตีน CD19 (CD19-CAR T cells) ที่มีการแสดงออกมากบนผิวของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดบี-เซลล์และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผลการวิจัยทางคลินิกแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสามารถของ CD19-CAR T cells ในการทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยมีราคาต่อ 1 ขนานอยู่ที่ $373,000-$475,000 หรือประมาณ 11-14 ล้านบาท

ภายหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง (Siriraj Center of Research Excellence for Cancer Immunotherapy) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะเริ่มรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต CD19-CAR T cells รุ่นใหม่นี้จากสถาบัน Geno-Immune Medical Institute (GIMI) รวมไปถึงแลกเปลี่ยนนักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงทำการทดสอบประสิทธิภาพของ CD19-CAR T cells ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชาวไทย ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนานักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการเตรียมเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษามะเร็งโดยใช้เซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยเอง ซึ่งองค์ความรู้และเทคโนโลยีนี้สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่พบในคนไทยได้ต่อไปในอนาคตด้วย

Recent post