มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา MU-New Normal วิถีปกติใหม่ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ “วิถีปกติใหม่ในการบริหารทรัพยากรบุคคลและการวิจัย”

การตรวจประเมินคุณภาพตามเกณฑ์ EdPEx ประจำปี 2563 ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ ในรูปแบบการตรวจประเมิน Online MU EdPEx Assessment
July 14, 2020
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมออนไลน์เพื่อเจรจาความร่วมมือร่วมกับ James Cook University เครือรัฐออสเตรเลีย
July 15, 2020

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา MU-New Normal วิถีปกติใหม่ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ “วิถีปกติใหม่ในการบริหารทรัพยากรบุคคลและการวิจัย”

new05

วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา MU-New Normal วิถีปกติใหม่ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ “วิถีปกติใหม่ในการบริหารทรัพยากรบุคคลและการวิจัย”  โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  คุณมนูญ สรรค์คุณากร กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทรงคุณวุฒิ รองศาสตราจารย์ นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์ นพ.วชิร คชการ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมเสวนา โดยมี  รองศาสตราจารย์ ดร.นริศรา จันทราทิตย์  รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรพล เปียฉ่ำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.น.สพ.ดุสิต เลาหสินณรงค์  และอาจารย์ ทพญ.ปนิดา ภาวิไล  สมาชิกสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล  เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ณ ห้องประชุม 411 ชั้น 4 ศูนย์การเรียนรู้มหิดล ศาลายา

          ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก  ต้องนำเข้าสินค้ากลุ่มยา วัคซีนและเครื่องมือแพทย์บางประเภทจากต่างประเทศ  ซึ่งมีความต้องการและความจำเป็นอย่างมากเพราะต้นทุนที่ต่ำกว่าการผลิตในประเทศ  ทั้งนี้ ในประเทศไทยต้องพัฒนาความสามารถด้านกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มากยิ่งขึ้น  โดยจะต้องสร้างสมดุลของอุปสงค์-อุปทาน โดยอาศัยกลไกนวัตกรรมแบบวิศวกรรม ต้องสามารถขยายผลผ่านกลไกนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐและส่งเสริมตลาดผ่านบัญชีนวัตกรรมไทย  สร้างความมั่นคงและลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ  ที่สำคัญต้องพัฒนาศักยภาพบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งผู้ประกอบการต้องมองงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ซึ่งจะก่อให้เกิดเป็นบัญชีนวัตกรรมที่เป็นกลไกในการส่งเสริมนวัตกรรมที่มีมาตรฐาน  สามารถเข้าสู่ตลาดของภาครัฐ  ภาคเอกชนและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างอย่างไรก็ตามประเทศไทยยังขาดหน่วยงานที่จะเป็น One Stop Service และ Platform การศึกษาที่ครบวงจรเพื่อการวิจัย

ศาสตราจารย์ นพ.วชิร คชการ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการปรับกระบวนการเพื่อสนับสนุนนักวิจัยและการเผยแพร่งานวิจัยด้วยการพัฒนาระบบบริหารจัดการ 3 ด้านคือ MU-RIMS (Mahidol University Research and Innovation Management System) เป็นระบบที่ใช้บริหารจัดการงานวิจัยโครงการวิจัยเพื่อนักวิจัยสามารถยื่นขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยโดยเงื่อนไขของการพิจารณาทุนจะมีการปรับเปลี่ยนค่าน้ำหนักด้านต่างๆ ให้เหมาะสม อีกทั้งเอื้อต่อการติดตามการดำเนินการวิจัยซึ่งขณะนี้ได้เริ่มในโครงการวิจัยที่เป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยโดยระบบนี้จะพัฒนาต่อไป  e-Signature เป็นระบบเข้ามาสนับสนุนด้านงานวิจัยเพื่อลดกระบวนการขั้นตอนการอนุมัติโครงการวิจัย ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็นที่แรกของประเทศไทยที่จะนำร่องนำ e-Signature มาใช้ในการลงนามเอกสารต่างๆ ของงานวิจัย  โดยจะใช้ระยะเวลาในการอนุมัติภายใน 5 วันทำการ Online Confirmation การพิจารณาให้เงินรางวัลการตีพิมพ์งานวิจัยตามประกาศของมหาวิทยาลัย โดยนำกลไกการจัดอันดับงานวิจัยที่มีการเผยแพร่ การตีพิมพ์และถูกนำอ้างอิง และนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์/นำผลงานวิจัยไปใช้จริง

          คุณมนูญ สรรค์คุณากร กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล คือ พนักงาน ต้องมีความรู้ ความสามารถ พร้อมพัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างผลงานให้กับองค์กร โดยมีระบบการประเมินที่ดีทั้งในด้าน Performance  Competency Knowledge และAttitude  รางวัล จะเป็นแรงจูงใจที่จะเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน สภาพแวดล้อมและเครื่องมือที่พร้อมสนับสนุนการทำงาน  องค์กรจะต้องมีกระบวนการในการดูแลพนักงานที่มีคุณภาพได้อย่างไร ดังนั้น วิถีปกติใหม่ในการบริหารทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยต้องมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานภายในองค์กร  ทบทวนสมรรถนะความสามารถของทรัพยากรและงบประมาณในการดำเนินการกิจกรรมด้านวิจัยและวิชาการเพียงพอหรือไม่ และจะหาแหล่งรายได้อย่างไร  การเชื่อมโยงระหว่างองค์กรกับพนักงานที่สามารถสื่อสารและเชื่อมโยงผ่านระบบสารสนเทศและอุปกรณ์เทคโนโลยีที่สนับสนุนเพียงพอ ต้องมีการคำนวณต้นทุนในการดำเนินการของพนักงานหากมีการเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงองค์กรต้องมีแนวทางในการชดเชยต้นทุน  และพัฒนาศักยภาพและสร้างองค์ความรู้ให้กับพนักงาน  มีความยืดหยุ่นได้ตลอดเวลา  สามารถเชื่อมโยงและพัฒนาคนให้ทันกับสถานการณ์ของโลก

รองศาสตราจารย์ นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า  การบริหารทรัพยากรบุคคลของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นต้องมีการสนับสนุนในทุกๆ ด้าน อาทิ  การพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้มีโอกาสแสดงศักยภาพให้เต็มที่  การพัฒนาผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดยจะต้องไปตามเป้าหมาย  การพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นองค์กรแห่งองค์การนวัตกรรมมีสภาพแวดล้อมการทำงานแบบดิจิทัล  ซึ่งจะต้องมีการสร้างระบบให้มีประสิทธิภาพ  ปรับโครงการและกระบวนการทำงาน ดังนั้น การขับเคลื่อนแผนดังกล่าวต้องกำหนดแนวทางการบริหารอัตรากำลังให้มีประสิทธิภาพสูงสุด  ปรับกระบวนการวัดผลและประเมินความผูกพันของบุคลากรเพื่อสร้าง Employ Engagement ที่มีประสิทธิภาพ  การจ่ายค่าตอบแทนให้มีความเหมาะสมตามระดับงาน (Job Grade) มีการสนับสนุนให้มีการพัฒนาตนเอง  และกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับพฤติกรรมใหม่ (Flexible Work Place)  วิถีปกติใหม่ในการบริหารทรัพยากรบุคคลของมหาวิทยาลัยมหิดล ต้องสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงาน  กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานนอกที่ทำงาน (remote work) หรือการทำงานที่บ้านโดยต้องไม่ลด PA ไม่เน้นกระบวนการแต่ให้ประเมินจาก Output ของงาน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของตำแหน่งงาน  จัดสวัสดิการด้านต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่น ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี  ปรับวิธีการวิเคราะห์อัตรากำลังให้ตอบสนองการทำงานในภาวะวิกฤติ (Reskill/Upskill) ปรับกระบวนการสรรหาบุคลากรให้รองรับการทำงานแบบ Work From Home  ทบทวนและออกแบบการสร้างขีดความสามารถของผู้นำ และใช้ Application อำนวยความสะดวก ปรับรูปแบบการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ของพนักงานในช่วงที่ปฏิบัติงานนอกที่ทำงาน โดยใช้ AI มาช่วยในการสื่อสาร

Recent post