นักวิจัย ม.มหิดล ค้นพบผักบุ้ง 5 ชนิดใหม่ของโลก สามารถศึกษาและพัฒนาต่อยอดเป็นยารักษาโรคได้

ม.มหิดล จัด “กิจกรรมการออกกำลังกายตามนโยบายรัฐบาล”
January 12, 2018
โครงการ “สาสุข มหิดล นำสุขภาพสู่ปวงชน”
January 12, 2018

นักวิจัย ม.มหิดล ค้นพบผักบุ้ง 5 ชนิดใหม่ของโลก สามารถศึกษาและพัฒนาต่อยอดเป็นยารักษาโรคได้

Argyreia3

ประเทศไทยเป็นถิ่นกำเนิดของพืชพรรณนานาชนิด มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากที่สุด 1 ใน 25 แห่งของโลก การค้นพบพืชชนิดใหม่ เป็นการยืนยันให้เห็นถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติของประเทศไทยซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่เปราะบางเป็นอย่างยิ่ง เป็นเรื่องน่ายินดีที่เมื่อเร็ว ๆ นี้นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลได้สร้างผลงานค้นพบ “ผักบุ้ง 5 ชนิดใหม่ของโลก” ซึ่งนอกจากจะเป็นไม้ประดับที่สวยงามแล้ว ยังพบว่ามีสารสำคัญที่สามารถศึกษาและพัฒนาต่อยอดเป็นยารักษาโรค โดยการค้นพบพืชชนิดใหม่นี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำทางพฤกษศาสตร์ในต่างประเทศ

พืชวงศ์ผักบุ้ง 5 ชนิดใหม่ของโลกนี้ถูกค้นพบโดย ผศ.ดร.ปวีณา ไตรเพิ่ม อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำงานวิจัยร่วมกับ Dr. George W. Staples นักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้แก่ เครือพูพิสุทธิ์ เครือพูลานสาง เครือพู ดอกหอม เครือพูพวงผกา และ จิงจ้อภาชี โดยพืชทั้ง 5 ชนิดนี้ถูกตีพิมพ์รับรองแล้วในวารสารวิชาการชั้นนำทางพฤกษศาสตร์ ได้แก่ Phytotaxa ของประเทศนิวซีแลนด์ และ Systematic Botany ของประเทศสหรัฐอเมริกา

“เครือพูพิสุทธิ์” (Argyreia albiflora Staples & Traiperm) หมายถึงพืชในสกุลเครือพูเงินที่มีดอกสีขาว เคยถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ และมีตัวอย่างอ้างอิงในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยากรุงลอนดอน เพียงชิ้นเดียวที่ไม่สมบูรณ์ทำให้ไม่สามารถระบุชนิดได้ จนกระทั่งได้ค้นพบในธรรมชาติอีกครั้งหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้

“เครือพูลานสาง” (Argyreia ankylophlebia Traiperm & Staples) คำระบุชนิดมาจากสถานที่ที่พบครั้งแรกคือ อุทยานแห่งชาติลานสาง จังหวัดตาก โดย Dr. Paul Wilkin นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษและ ดร.สมราน สุดดี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ แต่ตัวอย่างดอกไม่สมบูรณ์จึงไม่สามารถยืนยันชนิดได้แน่นอนในขณะนั้น เครือพูลานสางมีดอกสีม่วงเข้มตัดกับใบสีเขียวอ่อน นับเป็นพืชที่เหมาะแก่การนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นไม้ประดับ

“เครือพูดอกหอม” (Argyreia dokmaihom Traiperm & Staples) พบในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและอำเภอ สังขละบุรี เนื่องจากพืชชนิดนี้มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในเวลากลางคืนซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่เคยพบมาก่อนในพืชชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน จึงมีคำระบุชนิดจากภาษาไทยว่า ดอกไม้หอม เครือพูดอกหอมมีดอกเป็นพวงขนาดใหญ่สีขาว ใบประดับมีสีขาวอมชมพู ควรมีการส่งเสริมเพื่อนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ

“เครือพูพวงผกา” (Argyreia inaequisepala Traiperm & Staples) ถูกพบในป่าเต็งรังผสมป่าสนที่จังหวัดเชียงใหม่ มีดอกคล้าย ๆ ดอกผักบุ้งไทยแต่มีสีม่วงอมชมพู คำระบุชนิดหมายถึงการที่พืชชนิดนี้มีกลีบเลี้ยงไม่เท่ากัน ส่วนชื่อไทยได้ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ รศ.ดร.พวงผกา อัมพันธ์จันทร์ หัวหน้าภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สนับสนุนงานทางด้านอนุกรมวิธานเสมอมา

“จิงจ้อภาชี” (Argyreia suddeeana Traiperm & Staples) ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.สมราน สุดดี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ได้พบพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรกในธรรมชาติ ส่วนชื่อไทยมาจากบริเวณที่พบในป่าเต็งรัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำภาชี

อ่านรายละเอียดทั้งหมด ที่นี่

Recent post