คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวเปิดนวัตกรรมช่วยโรงพยาบาล สู้ COVID-19 “หุ่นยนต์เวสตี้” เก็บขยะติดเชื้อ และ”หุ่นยนต์ฟู้ดดี้” ส่งอาหาร-ยา

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มอบถุงแบ่งปันให้กับชุมชนเขาทอง จังหวัดนครสวรรค์
May 13, 2020
บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มอบ“หุ่นยนต์ปฏิบัติการ CISTEMS” ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 แก่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
May 15, 2020

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวเปิดนวัตกรรมช่วยโรงพยาบาล สู้ COVID-19 “หุ่นยนต์เวสตี้” เก็บขยะติดเชื้อ และ”หุ่นยนต์ฟู้ดดี้” ส่งอาหาร-ยา

ED2BEE82-A8C1-466A-B7BF-021427A323BF

วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วย รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนพ.สมชาย ดุษฎีเวทกุล รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเเถลงข่าวเปิดนวัตกรรมช่วยโรงพยาบาล สู้โควิด “หุ่นยนต์เวสตี้” เก็บขยะติดเชื้อ และ “หุ่นยนต์ฟู้ดดี้” ส่งอาหาร-ยาในหอผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และทดแทนการทำงานหนักของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ในยุคที่เผชิญ COVID-19 ณ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างนวัตกรรม หุ่นยนต์เวสตี้(Wastie) เก็บขยะติดเชื้อในโรงพยาบาล สืบเนื่องจากปัญหาของขยะติดเชื้อภายในโรงพยาบาล และปัญหาทางสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยจัดทำขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรง ซึ่งหุ่นยนต์เวสตี้ ประกอบด้วย AGV (Automated Guide Vehicle) เป็นระบบนำทางด้วยเทปแม่เหล็ก และแขนกล(CoBot) สำหรับยกถังขยะโหลดขึ้น ระบบ Machine Vision ในการจำแนกประเภทวัตถุและตำแหน่ง การยกแต่ละครั้งได้สูงสุด 5 กิโลกรัม ส่วนของ AGV สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ถึง 500 kg ความเร็วในการเคลื่อนที่ไม่ต่ำกว่า 8 เมตรต่อนาที โดยมีเทปแถบแม่เหล็กไว้ที่พื้นเป็นเส้นนำทาง การทำงานหุ่นยนต์จะเคลื่อนที่ไปตามแนวเส้นนำทาง การทำงานเริ่มจากขดลวดกระตุ้นผลิตสนามแม่เหล็กไฟฟ้าโดยมีชุดตรวจจับการเคลื่อนที่มีความเที่ยงตรงและแม่นยำ เมื่อถึงจุดรับขยะ จะอ่านบาร์โค้ด และยกถังขยะติดเชื้อไปยังกระบะจัดเก็บ หากใช้ใน 4 โรงพยาบาล จะสามารถขนส่งขยะติดเชื้อได้ประมาณ 10 ตันต่อวัน อีกทั้งช่วยลดปัญหาของการหยุดชะงักของการบริการขนส่ง อันเกิดจากปัญหาการติดเชื้อของบุคลากรในโรงพยาบาล ซึ่งจะส่งผลให้การขนส่งล่าช้าได้มากกว่า 50% หุ่นยนต์ฟู้ดดี้(Foodie) ส่งอาหาร-ยาในหอผู้ป่วย ช่วยลดภาระบุคคลากรทางการแพทย์จากการสัมผัสตรงกับผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องใช้บุคคลากรทางการแพทย์ 2 คนเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีความแออัดและมีผู้ป่วยจำนวนมาก ทางทีมผู้วิจัยจึงคิดค้นนวัตกรรม หุ่นยนต์ Foodie ส่งอาหาร-ยาในหอผู้ป่วย ซึ่งใช้ระบบนำทางอัจฉริยะด้วยข้อมูลแผนที่ในตัวหุ่นยนต์แบบ QR-Code Mapping สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 30-50 kg ความเร็วในการเคลื่อนที่ 8 เมตรต่อนาที ลักษณะหุ่นยนต์ประกอบด้วยชุดขับเคลื่อนที่นำทางด้วยการใช้กล้องอ่าน QR Code บนพื้น AGV จะเคลื่อนที่ตามที่ได้โปรแกรมไว้ และจดจำพิกัดและคำสั่งตามที่บันทึกไว้ในแต่ละ QR-Code ในส่วนของระบบการส่งอาหาร เน้นการขนส่งครั้งละมากๆ เพื่อทดแทนการขนส่งอาหารด้วยมนุษย์ และการออกแบบกลไกให้ส่งถาดอาหารเข้าสู่จุดหมายแบบไม่ต้องมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในการพัฒนา Foodie สามารถนำส่งอาหาร 3 มื้อ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ไปยังห้องผู้ป่วยหรือเตียงผู้ป่วยในวอร์ดได้ประมาณ 200 คน ต่อวัน

การนำนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาระบบโลจิสติกส์สาธารณสุขในโรงพยาบาล จะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพและประสิทธิภาพของบริการรักษาพยาบาล  ความปลอดภัยของประชาชนและบุคคลากร นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุน และลดงานที่ซ้ำซ้อน สร้างสรรค์สิ่งใหม่ บริการใหม่ ที่ใช้ดิจิตอล การวิเคราะห์เพื่อการรักษาด้านสุขภาพ เพื่อให้มีต้นทุนที่ผู้ป่วยเข้าถึงได้ และปรับให้เหมาะกับการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน สร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยในการรักษาที่ดีขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ

รายชื่อทีมวิจัย

  1. ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าโครงการ
  2. นพ.สมชาย ดุษฎีเวทกุล รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
  3. รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาบุคลากรและสื่อสารองค์กร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล
  4. ผศ.ดร.นริศ หนูหอม รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล
  5. ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล
  6. ผศ.ดร.ตวงยศ สุภีกิตย์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล
  7. อาจารย์กัญจน์ คณาธารทิพย์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล
  8. นายวัชรพงศ์ หมีสมุทร เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ทรัพย์สินทางปัญญาของสำนักวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล

Recent post