มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา “MU-New Normal วิถีปกติใหม่ในมหาวิทยาลัยมหิดล”

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ เปิดหลักสูตรร่วม แพทยศาสตรบัณฑิต – การจัดการมหาบัณฑิต (M.D.-M.M.)
June 15, 2020
การตรวจประเมินคุณภาพตามเกณฑ์ EdPEx ประจำปี 2563 วิทยาลัยศาสนศึกษา ในรูปแบบการตรวจประเมิน Online MU EdPEx Assessment
June 16, 2020

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา “MU-New Normal วิถีปกติใหม่ในมหาวิทยาลัยมหิดล”

new-normal11

วันที่ 16 มิถุนายน 2563    มหาวิทยาลัยมหิดล จัด“เสวนา  MU-New Normal  วิธีปกติใหม่  ในมหาวิทยาลัยมหิดล”  ได้รับเกียรติจากวิทยากรดังนี้   ดร. โชค  บูลกุล  กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง  มไหสวริยะ    รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จุฑามณี    สุทธิสีสังข์    รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน   ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหิดล  ภายใต้วิถีปกติใหม่”  โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์   ปรัญรัชต์  ธนวิยุทธิ์ภักดี เลขาธิการสภาคณาจารย์ จากสถาบันโภชนาการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สันติ มณีวัชระรังสี   สมาชิกสภาคณาจารย์ จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ณ ห้องประชุม 411 ชั้น 4 ศูนย์การเรียนรู้มหิดล  ศาลายา

การเสวนาครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการสื่อสารข้อมูลระหว่างผู้บริหารกับประชาคมชาวมหิดลได้รับทราบเกี่ยวกับนโยบายและทิศทางการบริหารมหาวิทยาลัย ที่มีการปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 หรือโควิด -19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่มีการปรับเปลี่ยน และต้องนำไปปฎิบัติ ให้เป็นปกติสุข  ที่เรียกว่า วิถีชีวิตปกติใหม่ สาระสำคัญของการเสวนา  สรุปดังนี้  ดร. โชค   บูลกุล   กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีต้นทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์สายวิชาการ พนักงานสายสนับสนุน   และนักศึกษาที่มีคุณภาพ  การทำงานของมหาวิทยาลัยกับส่วนงานต่าง ๆ ต้องไปในทิศทางเดียวกัน (Platform)  จึงนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

 

ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง  มไหสวริยะ    รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า การเรียนในวิทยาเขต ยังมีความสำคัญ แต่ในขณะนี้เราต้องดูแลนักศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยบริหารจัดการให้มีการเรียนการสอน ผ่าน online 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีนโยบายด้านการเรียน ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก และได้เน้นย้ำในเรื่อง 4D สิ่งที่จะเกิดขึ้นในโลกยุค Post Covid -19 ได้แก่  Digital   Distancing  Discrimination และ Domestic รวมทั้งมีนโยบาย “การทำงานที่บ้าน”  (work from home) ซึ่งเป็นเทรนด์การทำงานยุคใหม่ที่ตามมากับเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาไปจนทำให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนที่ต่ำ มีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด อีกด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดเตรียม facility ต่าง ๆ ทั้งด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ และระบบสารสนเทศ เพื่อรองรับการทำงานให้แก่บุคลากรมาก่อนหน้านี้แล้ว

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จุฑามณี    สุทธิสีสังข์    รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน ได้กล่าวว่า การของบประมาณวิจัยระยะสั้น ในช่วงผลกระทบจากสถานการณ์ covid-19 สามารถที่จะขอได้  และขอให้ทุกส่วนงานจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณและมองหาโอกาส เพราะหลังจากจาก covid-19 ผ่านพ้นไปจะมีงบประมาณในการทำงานวิจัยเกิดขึ้นมากมาย    นอกจากนี้มหาวิทยาลัยได้วางแผนการใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีการจัดโครงการของมหาวิทยาลัยตามลำดับความสำคัญ  รวมทั้งมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับแผนรองรับภาวะฉุกเฉินและช่วยเหลือนักศึกษาและบุคลากรที่ได้รับ ทั้งนี้ ส่วนงานต่าง ๆ  ต้องปรับตัวโครงการและตัวชี้วัดในการประเมินระบบการเรียนการสอน online ว่าจะทำให้นักศึกษาได้รับ Learning experience ที่เทียบเท่าในห้องเรียนจริงหรือไม่

การเสวนา MU-New Normal  วิธีปกติใหม่  ในมหาวิทยาลัยมหิดล  จัดโดย สำนักงานสภามหาวิทยาลัยมหิดล  สภาคณาจารย์ และงานสื่อสารสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป โดยจัดในรูปแบบใหม่ ที่มีการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในห้องประชุม รวมทั้งสามารถใช้ช่องทางเข้าร่วมกิจกรรมได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ WebEx Event , IPTV  และ Facebook live  โดยในครั้งต่อไป จะจัดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563  ภายใต้หัวข้อ “การศึกษาวิถีปกติใหม่กับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล”

Recent post