มหาวิทยาลัยมหิดล เยี่ยมชมความสำเร็จของโครงการ Total Innovation Management Enterprise

กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ม.มหิดล จัดโครงการ SDGs Visit (คณะเทคนิคการแพทย์ / สถาบันโภชนาการ / วิทยาลัยนานาชาติ / วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา)
September 3, 2020
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล รับรางวัลในงาน “วันภูมิปัญญานักรบไทย” ประจำปี 2563
September 5, 2020

มหาวิทยาลัยมหิดล เยี่ยมชมความสำเร็จของโครงการ Total Innovation Management Enterprise

4633F2F3-F427-43E6-B86B-41914D1E9F30

วันที่ 4 กันยายน 2563 มหาวิทยาลัยมหิดล เยี่ยมชมความสำเร็จของโครงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการนวัตกรรมองค์กรแบบทั่วถึง หรือ TIME (Total Innovation Management Enterprise) ณ บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด จังหวัดเพชรบุรี พร้อมหารือการดำเนินการภายใต้โครงการ TIME ที่ผ่านมาและแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป โดยมี ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.เนติ สุขสมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.พญ.พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ เข้าเยี่ยมชมและร่วมหารือ

ในโอกาสนี้ คุณเกษม อิสระพิทักษ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ได้ให้การต้อนรับคณะผู้เข้าเยี่ยมชม จากนั้น คุณมีชัย ศรีวิบูลย์ ผู้อำนวยการสายงานด้านเทคนิค แนะนำภาพรวมกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอโครงการ TIME กับแนวทางการทำงานเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติร่วมกับภาคการศึกษา ซึ่งเป็นภาพรวมผลงานนวัตกรรมของนักศึกษา ภายใต้โครงการ Research Development Innovation Management (RDI) โดย ดร.บรรพต หอบรรลือกิจ

โครงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการนวัตกรรมองค์กรแบบทั่วถึง หรือ TIME (Total Innovation Management Enterprise) เป็นโครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงรูปแบบใหม่ ต่อยอดมาจากความสำเร็จของโครงการ WiL และ โครงการพัฒนานักวิจัยในอุตสาหกรรมร่วมกับสถานประกอบการขนาดกลาง ของ สอวช.นำไปสู่การขยายผลจนเกิดกระบวนการพัฒนานโยบายแนวใหม่สู่กลไกพัฒนาและขยายผลที่ยั่งยืน โดยการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้เชิงวิชาการควบคู่กับทักษะด้านอุตสาหกรรม และเติบโตเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดการพัฒนาการทำงานแบบข้ามสายงานที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะแข่งขันในตลาดต่างประเทศ

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล มีความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนชั้นนำหลายแห่งเพื่อร่วมผลิตบัณฑิตและสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาทั้งรูปแบบ up-skill re-skill และ add-skill curricular ที่ส่งผลต่อ Business Performance ของภาคอุตสาหกรรม และสนองนโยบายของประเทศ อาทิ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด เป็นต้น ภายใต้โครงการแพลตฟอร์มการศึกษาครบวงจร เพื่อการพัฒนานักศึกษาปริญญาโทและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรม สร้างขีดความสามารถในการทำนวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรม และยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศโดยการพัฒนากำลังคนระดับสูง โดยในปี 2563 นักศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรชีวนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนการผลิตบัณฑิต กว่า 18,800,000 บาท จากโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)