พิธีลงนามในข้อตกลง มหาวิทยาลัยมหิดล – มหาวิทยาลัยโอซาก้าและพิธีเปิด Mahidol University – Osaka University Joint Campus

อธิการบดีเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
December 22, 2017
โครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “กฎหมายสำหรับผู้บริหารมหาวิทยาลัย”
December 22, 2017

พิธีลงนามในข้อตกลง มหาวิทยาลัยมหิดล – มหาวิทยาลัยโอซาก้าและพิธีเปิด Mahidol University – Osaka University Joint Campus

osaka01

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีลงนามในข้อตกลง (ฉบับเพิ่มเติม) และพิธีเปิด Mahidol University – Osaka University Joint Campus ขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พญาไท) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์เกนตะ คาวาฮารา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยโอซาก้า (Prof.Genta Kawahara Executive Vice President, Osaka University) และ นายฮิเดโอะ ฟุคุชิมะ อัครราชทูตฯ รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตฯ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (Mr.Hideo Fukushima, Ministry Deputy Chief of Mission, Embassy of Japan in Thailand) ร่วมเปิดงาน ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พญาไท) ซึ่งในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลและอดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความเป็นมาในความร่วมมือของทั้งสองสถาบัน

ข้อตกลงความร่วมมือ (ฉบับเพิ่มเติม) อย่างเป็นทางการว่าด้วยการ Joint Campus นี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการที่มีอยู่เดิม อาทิ หน่วยความร่วมมือการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยโอซาก้า (MU-OU:CRC) หน่วยร่วมมือการวิจัยสำหรับประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์นานาชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า (OU:CRS) และ หลักสูตรร่วม (สองปริญญา) ระดับปริญญาโท ในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ 2) สนับสนุนและต่อยอดกิจกรรมความร่วมมือ โดยในอนาคตอันใกล้ จะเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรร่วม (สองปริญญา) ระดับปริญญาโท ในสาขาภาษาศาสตร์ประยุกต์ และ หลักสูตรร่วม (ปริญญาร่วม) ระดับปริญญาโท ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และ Graduate School of Engineering แห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า 3) ขยายขอบเขตความร่วมมือทางวิชาการและการศึกษาครอบคลุมสาขาอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยทั้งสองมีความเชี่ยวชาญ

มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ได้เริ่มต้นความร่วมมือ ในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ในปี พ.ศ. 2528 และมีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในปี พ.ศ. 2540 จนในปัจจุบันได้ขยายสาขาความร่วมมือไปอย่างกว้างขวาง ทั้ง วิทยาศาสตร์ เวชศาสตร์เขตร้อน และภาษาศาสตร์ ด้วยความร่วมมืออันยาวนานมากว่า 30 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยโอซาก้า มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือในด้านวิชาการ การศึกษา และการวิจัย เพื่อนำมาซึ่งนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและร่วมพัฒนาภูมิภาคเอเชียต่อไป

Recent post