มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) “การพัฒนาย่านนวัตกรรมอารีย์ (Ari Innovation District)”

วิทยาลัยศาสนศึกษา ม.มหิดล จัดงานบรรยายทางวิชาการ “Mahidol University’s CRS Religious Studies Seminars”
September 15, 2021
ม.มหิดล เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมไทย – รัสเซีย ครั้งที่ 3 เรื่อง ความร่วมมือด้านการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษและการวิจัย
September 16, 2021

มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) “การพัฒนาย่านนวัตกรรมอารีย์ (Ari Innovation District)”

วันที่ 16 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) “การพัฒนาย่านนวัตกรรมอารีย์ (Ari Innovation District)” ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พร้อมด้วย 16 องค์กรพันธมิตรร่วมลงนาม ในโอกาสนี้  รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย ผ่านระบบออนไลน์

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ในฐานะองค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ ได้นำการพัฒนาเชิงพื้นที่มาใช้เป็นแนวคิดหลักที่ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่ โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพของบริเวณย่านอารีย์ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ที่มีการกระจุกตัวของผู้ประกอบการ และทรัพยากรด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) การพัฒนาเครื่องจักรกลขั้นสูง (Robotics) เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Immersive Technology) และการเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลด้วยระบบอินเทอร์เน็ต (IoTs) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ที่จะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำพาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ จึงมีแนวคิดในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในระบบนิเวศนวัตกรรมที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน และขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่เชิงนวัตกรรม

“การพัฒนาย่านนวัตกรรมอารีย์ (ARI Innovation District)” มหาวิทยาลัยมหิดลจะร่วมมือกับ สนช. ในการพัฒนาให้ย่านดังกล่าวเป็นพื้นที่พัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และเป็นพื้นที่พิเศษด้านนวัตกรรม (Special Economic Zone for Startup) โดยการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อม การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-based Innovation) ที่มีศักยภาพของสินทรัพย์ครบ 3 ด้าน คือ ด้านเครือข่าย ด้านเศรษฐกิจ และด้านกายภาพ และสนับสนุนให้ก้าวไปสู่การเป็น “เมืองฉลาดรู้” หรือ “Cognitive City”

16 หน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ ได้แก่ 1. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ AIS 2. บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด 3. บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) 4. โรงพยาบาลวิมุต 5. AriAround Community 6. เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล และศูนย์เร่งรัดวิจัยและนวัตกรรมเอกชน 7. บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด 8. บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) 9. CMKL University 10. สมาคมไทยไอโอที 11. Invent (บริษัทร่วมทุนอินเว้นท์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด มหาชน) 12. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) 13. ธนาคารออมสิน 14. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 15. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 16. สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย