พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ม.มหิดล – วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ม.มหิดล มหาวิทยาลัยสีเขียว อันดับ 1 ของประเทศไทยประจำปี 2017 UI Green Metric World University Ranking 2017
December 20, 2017
มหาวิทยาลัยมหิดลแถลงผลการวิจัย และลงนามความร่วมมือทางวิชาการ การศึกษาฐานข้อมูลยาและระบบบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล
December 20, 2017

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ม.มหิดล – วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

chula4

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรักษาการอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสองสถาบัน โดยมี รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล และ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 217 ชั้น 2 ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวว่า ในการจัดการศึกษา เพื่อให้การดำรงชีพร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ได้อย่างเหมาะสมนั้น ล้วนมีปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการศึกษาด้านสัตวแพทยศาสตร์ รวมถึงความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นของสังคมและประชาชนต่อบทบาทสัตวแพทย์ในการดูแลสุขภาพสัตว์ การป้องกันโรคระบาด และพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสัตว์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสัตวแพทยศาสตร์ และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลิตบัณฑิตหลักสูตร “สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต” และการร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้

ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรักษาการอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันทั่วโลกมีความตระหนักถึงปัญหาทางสุขภาพของประชาชน และความปลอดภัยทางด้านอาหารมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามพบว่าคนจำนวนมากมีปัญหาด้านสุขภาพ และโภชนาการเพิ่มมากขึ้น โดยโรคติดเชื้อและโรคอุบัติใหม่ที่ก่อให้เกิดอันตรายในมนุษย์จำนวนมากมีแหล่งที่มาจากสัตว์ ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ดังนั้นองค์กรต่างๆ ทั่วโลก จึงร่วมมือกันดำเนินงานตามหลักการของสุขภาพหนึ่งเดียว (one health) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรค และเพิ่มความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ได้มาจากสัตว์ โดยมีเป้าหมายในการเฝ้าระวัง ควบคุม และตอบโต้โรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับพระดำริในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงจัดตั้งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขึ้น เพื่อยกระดับการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาแพทยศาสตร์ และสาขาวิชาด้านสุขภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานและผลิตบัณฑิตทัดเทียมระดับสากล ทั้งนี้ รวมถึงสาขาวิชาสัตวแพทยศาสตร ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (one health) ในการที่จะบูรณาการองค์ความรู้ด้านสุขภาพคน สุขภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อม เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชนชาวไทย

จากหลักการดังกล่าว วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้ตกลงทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นคู่ความร่วมมือกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในการผลิตบัณฑิตหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต โดยรับเป็นสถาบันร่วมผลิตบัณฑิตมุ่งเน้นการผลิตสัตวแพทย์ที่จะร่วมปฏิบัติงานกับสาขาวิชาชีพอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาหรือชี้นำสังคมได้ด้วยการวิจัย รวมถึงผลิตบัณฑิตเพื่อสนับสนุนหน่วยงานหรือสาขาจำเพาะที่ยังขาดแคลน เช่น ด้านการประมง และปศุสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสถาบันพี่เลี้ยงในการช่วยเหลือพัฒนาบุคลากรทางด้านสัตวแพทย์ระดับต่างๆ ให้กับคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อตอบสนองการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

Recent post