นักวิจัยโลหิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีเปิด AIS Playground & A-Store @ MU
August 16, 2022
ศูนย์บริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (COSHEM) ม.มหิดล จัดโครงการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจประเมินห้องปฏิบัติการในรูปแบบ peer evaluation
August 17, 2022

นักวิจัยโลหิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565

วันที่ 16 สิงหาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลในงานแถลงข่าวรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2565 ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 40 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีกล่าวเเสดงความยินดีเเละมอบโล่ ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม ซี โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์แอท เซ็นทรัลพลาซ่า กรุงเทพฯ จัดโดย คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

สำหรับในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศาสตราจารย์ ดร.นายเเพทย์ วิปร วิประกษิต อาจารย์ประจำสาขาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล “ผู้คิดค้นและพัฒนาแนวทางในการวินิจฉัยโรคทางโลหิตวิทยาด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์” ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2565

ศาสตราจารย์ ดร.นายเเพทย์วิปร เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาโดยเฉพาะโรคเม็ดเลือดแดงและโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย มีความเป็นเลิศทางวิชาการ (Academic Excellence) มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่น (High Quality Research output) อีกทั้งยังมีความสำคัญและเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ (Nationally Important) และเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล (Globally Visible) ความเป็นเลิศทางวิชาการ มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่น โดยพิจารณา ผลงานย้อนหลัง และ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่างานวิจัยได้รับการอ้างอิงมากกว่า 10,000 ครั้ง ในสาขาโลหิตวิทยา ชึ่งเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญของสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติและองค์การอนามัยโลก

ผลงานวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ การค้นพบโรคทางโลหิตวิทยาชนิดใหม่ในคนไข้ชาวไทย และตั้งชื่อว่าโรคเคแอลเอฟ 1 การค้นพบกลไกการเกิดโรคพันธุกรรมแบบใหม่จากการเปลี่ยนแปลงลำดับดีเอ็นเอ ที่ส่งผลต่อการควบคุมการแสดงออกของยีน การวิจัยทางคลินิกของผลการรักษาภาวะเหล็กเกินด้วยยาขับเหล็กที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการประเมินภาวะเหล็กเกินด้วยการวิเคราะห์ภาพจากเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า งานวิจัยเชิงลึกด้านพยาธิสรีรวิทยาของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียทั้งในแง่กลไกทางพันธุกรรม อุบัติการณ์ สาเหตุ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งผลงานดังกล่าวได้ถูกปรับใช้ในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคทางโลหิตวิทยาและโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในประเทศไทยและทั่วโลก ทั้งยังเป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างต้นแบบรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน (รถตรวจหาเชื้อโควิด 19) อีกด้วย