คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ร่วมกับ องค์การเภสัชกรรม แถลงข่าว “วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย ขององค์การเภสัชกรรม เริ่มวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1/2”

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะพยาบาลศาสตร์ รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 19 ประจำปี 2563
March 19, 2021
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ 1st International Online Conference on Pediatric Hearing loss: Diagnosis, Management and Rehabilitation
March 22, 2021

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ร่วมกับ องค์การเภสัชกรรม แถลงข่าว “วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย ขององค์การเภสัชกรรม เริ่มวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1/2”

1616399045489_copy_1024x683

วันที่ 22 มีนาคม 2564 คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ องค์การเภสัชกรรม แถลงข่าว วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย ขององค์การเภสัชกรรม เริ่มวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1/2 ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ในโอกาสนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวผ่านวีดิโอคลิป ถึงความก้าวหน้าในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย การสร้างเทคโนโลยี ความภาคภูมิใจในการผลิตวัคซีนโดยคนไทยและเพื่อคนไทย และชื่นชมอาสาสมัครที่ร่วมศึกษาวิจัยในการฉีดวัคซีนครั้งนี้

1616395966283_copy_1024x683

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

1616395968595_copy_1024x683

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม

จากนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า  ความสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างสองกระทรวง คือ องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในครั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาวัคซีนนี้เป็นไปตามแผน กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีแนวทางสนับสนุนการศึกษาวิจัยในมนุษย์ทั้ง 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 และ 2 สนับสนุนด้านนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ และงบประมาณ ส่วนระยะที่ 3 อาจจะมีการวิจัยทั้งใน และต่างประเทศเพื่อให้ได้จำนวนอาสาสมัครที่เพียงพอ ด้วยการสนับสนุนของกลไกคณะกรรมการร่วมพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ โดยกลุ่มหน่วยงาน ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยให้การพิจารณาและสนับสนุนให้การวิจัยในระยะที่ 3 สำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การวิจัยพัฒนา และผลิตวัคซีนโควิด–19 ใช้เองในประเทศ นั้น องค์การเภสัชกรรม ได้ร่วมมือกับสถาบัน PATH สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ส่งหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นที่พัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์ Mount Sinai ในนิวยอร์กและมหาวิทยาลัยเท็กซัส มาให้ใช้วิจัยพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นมีการตัดแต่งพันธุกรรมไวรัสนิวคาสเซิล ให้มีโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) ของไวรัสโควิด-19 จึงมีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดโรค เพิ่มจำนวนในไข่ไก่ฟักได้ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมมีเทคโนโลยีนี้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน จากการทดสอบความเป็นพิษในหนูแรทที่อินเดีย ทดสอบประสิทธิภาพและการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูแฮมสเตอร์ที่สหรัฐอเมริกา มีความปลอดภัย กระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้รับอนุญาตให้ฉีดวัคซีนเพื่อศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 นี้  วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่องค์การเภสัชกรรมวิจัยพัฒนานั้น จะมีการทดสอบกับสารเสริมฤทธิ์ (Adjuvant) และจะเลือกสูตรที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจหาประสิทธิผลในการศึกษาวิจัยระยะต่อไป

1616395976903_copy_1024x683

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

1616395972952_copy_1024x683

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร
นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จในด้านความร่วมมือและการพัฒนางานวิจัยในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model) ของสำนักปลัดกระทรวง อว. โดยให้การสนับสนุนทรัพยากรในทุก ๆ ด้าน

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัคซีน คือ ความมั่นคงของประเทศไทย เมื่อประเทศสามารถผลิตวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยเห็นภาพชัด ถือได้ว่าประเทศไทยไม่เป็นรองใคร คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ องค์การเภสัชกรรม ในการผลิตวัคซีนดังกล่าว นับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำให้ศูนย์วัคซีนมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนกลยุทธ์ เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพ ผ่านการทดสอบตามลำดับ

1616395974959_copy_1024x683

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม

1616395970780_copy_1024x683

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า  ในประเด็นเรื่องเชื้อกลายพันธุ์ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) นั้น องค์การเภสัชกรรม ได้รับความร่วมมือจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (Biotech) (สวทช.) โดย ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา  ได้ทำการทดสอบวัคซีนองค์การเภสัชกรรมในการต้านเชื้อกลายพันธุ์ดังกล่าวด้วย องค์การเภสัชกรรมมีโรงงานผลิตวัคซีนที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี พร้อมผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในระดับอุตสาหกรรม โดยมีทีมผลิตวัคซีนกว่า 100 คนที่มีความรู้ความสามารถ สามารถผลิตได้ทันทีหลังจากวัคซีนได้รับทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การศึกษาวิจัยวัคซีนครั้งนี้ ศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรรณี ปิติสุทธิธรรม ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 1 และ 2 ออกแบบมาเพื่อประเมินความปลอดภัย และความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีนที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ทั้งนี้ โครงการวิจัยมีจุดมุ่งหมายในการคัดเลือกวัคซีนเพียงสูตรเดียวที่เหมาะสมเพื่อทำการศึกษาวิจัยระยะที่ 3 เพื่อตรวจหาประสิทธิผลต่อไป

DSC_4787

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ
คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน

1616395989414_copy_1024x683

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรรณี ปิติสุทธิธรรม
หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน และรักษาการหัวหน้าศูนย์วัคซีน
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน และรักษาการหัวหน้าศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นำทีม เข้าเยี่ยมชมสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในอาสาสมัคร ณ ชั้น 10 อาคารราชนครินทร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล