คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ด้านสุขภาพ กับสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกระทรวงคมนาคม พัฒนาต่อยอดแอพพลิเคชั่น BKK Rail รวบรวมข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง
March 16, 2021
มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาดูงาน SCB Academy Playground เพื่อนำไปพัฒนาห้องสมุดวิทยาเขตราชวิถี
March 16, 2021

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ด้านสุขภาพ กับสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์

DSC_0693

ซ้าย: นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์
ขวา: ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ 16 มีนาคม 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ในการทำธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานคณบดี ชั้น 5 อาคารบริหาร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นจำนวนมากกว่า 4,500 รายต่อปี โดยมีผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งสมองประมาณปีละ 100 รายต่อปี ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะโรคมะเร็งสมอง จัดอยู่ในกลุ่มโรคมะเร็งที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีความยากในการรักษา ปัจจุบัน มีชิ้นเนื้อมะเร็งสมองที่จัดเก็บไว้ในธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (Ramathibodi Comprehensive Tumor Biobank) จำนวน 52 ราย จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 2,840 ราย ในการดำเนินงาน 6 ปี (พ.ศ. 2557 – 2564) และขณะนี้อยู่ในระหว่างพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเซลล์มะเร็งแบบ primary cell culture และ tumor organoid จากชิ้นเนื้อสดผู้ป่วยที่เหลือจากการวินิจฉัยและจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ในงานวิจัยได้ในระยะยาว

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันประสาทวิทยาเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสมองและประสาทไขสันหลังที่รับส่งต่อผู้ป่วยโรคเนื้องอกสมองและระบบประสาททั้งเด็ก และผู้ใหญ่ทั่วประเทศ มีการผ่าตัดเนื้องอกสมองและระบบประสาท ประมาณ 400-500 รายต่อปี จากการศึกษาวิจัยโครงการทะเบียนผู้ป่วยโรคเนื้องอกสมองและไขสันหลังในเด็ก โดยชมรมโรคมะเร็งเด็กแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2554 – 2555 เพื่อศึกษาอุบัติการณ์เนื้องอกสมองและไขสันหลังในเด็กของประเทศไทย พบว่าสถาบันประสาทวิทยามีจำนวนผู้ป่วยเนื้องอกสมองและไขสันหลังในเด็กคิดเป็นร้อยละ 12.5 จัดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

การลงนามความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เกิดจากการพัฒนารูปแบบบูรณาการทั้งด้านการศึกษา วิจัย และวิชาการ การใช้ฐานข้อมูลและตัวอย่างทางคลินิกร่วมกัน ซึ่งส่งผลดีต่อการร่วมพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทย รวมทั้ง สามารถเป็นต้นแบบที่สำคัญให้แก่องค์กรหรือหน่วยงานอื่น ๆ ในด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมถึงโรคเรื้อรังที่มีค่ารักษาพยาบาลสูงต่อไปได้ในอนาคต