คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “บัวบก พันธุ์ศาลายา 1 โอกาสสู่พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย”

วิทยาลัยศาสนศึกษา ม.มหิดล จัดบรรยายทางวิชาการระดับนานาชาติ “Mahidol University’s CRS Religious Studies Seminars”
December 16, 2021
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กสทช. และ หัวเว่ย เปิดตัวโครงการ “ศิริราชต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ ระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G”
December 16, 2021

คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “บัวบก พันธุ์ศาลายา 1 โอกาสสู่พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย”

วันที่ 16 ธันวาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการ  เรื่อง “บัวบก พันธุ์ศาลายา 1 โอกาสสู่พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย” โดยมี แพทย์หญิงโศรยา ธรรมรักษ์ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึง แนวทางการวิจัยผลิตภัณฑ์สมุนไพรบัวบกในยุคโควิด-19 ณ ห้องประชุม 606 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผ่านระบบออนไลน์

ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมงานเสวนา และบรรยายหัวข้อ “การพัฒนาบัวบก พันธุ์ศาลายา 1 เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ” รองศาสตราจารย์ ดร. ภก.พิสิฐ  เขมาวุฆฒ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายหัวข้อ “การประยุกต์ใช้ งานวิจัยบัวบกในโลก (โรค) หลังโควิด-19” ดร.ผลบุญ นัทมานพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คริมสัน คอนซัลติ้ง จำกัด และ ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ บรรยายหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายทางการตลาดของ บัวบก และแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากบัวบกสายพันธุ์ศาลายา” มุมมองของนักการตลาดและผู้ประกอบการ

การเสวนาครั้งนี้ จัดขึ้นโดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมมือทำวิจัยด้านสมุนไพรเพื่อการอนุรักษ์ สนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ของสมุนไพรไทย โดยทีมวิจัยด้านคลินิก งานพัฒนาสูตรตำรับ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร ซึ่งเป็นต้นน้ำที่สำคัญในการผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศ ทั้งนี้ บัวบกพันธุ์ศาลายา 1 เป็นการพัฒนาพืชต้นแบบจากการประสานความร่วมมือในการทำวิจัย การบูรณาการความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จากผลการวิจัยบัวบกพันธุ์ศาลายา 1 มีขนาดใหญ่ขึ้น มีลักษณะสายพันธุ์คงที่ ผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกสูงกว่าต้นแม่พันธุ์ และมีปริมาณสารสำคัญสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยา นวัตกรรมทางการเกษตร โดยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ส่งเสริมการเพาะปลูกแก่เกษตรกร นำไปสู่การพัฒนาเพื่อยกระดับสมุนไพรเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรมต่อไป