มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยการจัดการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ พัฒนาหลักสูตรแพทย์ 6 ปี รับ 2 ปริญญา ตอบโจทย์ผู้เรียนแพทย์ เลือกเรียนสาขาอื่นในระดับปริญญาโท ควบคู่อีก 1 สาขา

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประเพณีรับน้องข้ามฟาก ประจำปีการศึกษา 2563
March 26, 2021
มหาวิทยาลัยมหิดล ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเครือข่าย AUN-HPN ครั้งที่ 10
March 29, 2021

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยการจัดการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ พัฒนาหลักสูตรแพทย์ 6 ปี รับ 2 ปริญญา ตอบโจทย์ผู้เรียนแพทย์ เลือกเรียนสาขาอื่นในระดับปริญญาโท ควบคู่อีก 1 สาขา

MOU Ed_210329_10

วันที่ 29 มีนาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยมหิดล  ในฐานะผู้แทนอธิการบดี กล่าวแสดงความยินดี ในพิธีลงนามความร่วมมือทางการศึกษาการผลิตมหาบัณฑิต โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง  ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา  รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพร  รับคำอินทร์   รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและประกันคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ภก.เนติ สุขสมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิด ศาสตราจารย์ พญ.สุวรรณี สุรเศรณีวงศ์ รองคณบดีและผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราช พร้อมด้วย ผู้บริหารคณะ ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ห้องจุฬาภรณ์  ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช

MOU Ed_210329_0

รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์
รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยมหิดล  ในฐานะผู้แทนอธิการบดี กล่าวว่า การจัดการศึกษาให้มีความความยืดหยุ่น (Flexible Education) เป็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็น Flagship Project ที่นอกจากการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนแล้ว ยังมุ่งให้มีการขยายผลให้เกิดขึ้นในทุกโครงการ เพื่อผลักดันให้เกิดความเป็นเลิศทางการศึกษา ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในสาขาอื่น ๆ ที่ตนเองมีความถนัดและต้องการศึกษามากกว่า 1 สาขา นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีโครงการระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank System) ที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในวิชาที่ตนเองสนใจเก็บเข้าในระบบดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยที่จะต้องทำหน้าที่เป็น Learning Center  ที่ทำให้ผู้เรียนมีความรู้กว้างตรงกับความต้องการของประเทศและโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

MOU Ed_210329_2

ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้มีการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงาน ทั้ง 5 ของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้การศึกษาแพทยศาสตร์มีความหลากหลายศาสตร์ สร้างบัณฑิตที่มีความรู้ ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของประเทศและโลกในอนาคต เนื่องจากความรู้ต่าง ๆ ทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้ในศาสตร์อื่น ๆ ด้วย เพื่อการประกอบวิชาชีพในอนาคต ประกอบกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม (technology disruption) ผู้เรียนในยุคดิจิทัลที่แตกต่างจากในอดีตอย่างมาก หลักสูตรใหม่นี้ออกแบบให้เป็น Flexible program คือนักศึกษาสามารถเลือกเรียนรายวิชาต่าง ๆ ทั้งทางการแพทย์ และสาขาอื่นได้อย่างหลากหลายตามความสนใจ และความถนัด นอกจากนั้น เพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ให้มีความรู้ความสามารถอย่างลึกซึ้งในศาสตร์อื่น ๆ ตามที่สนใจ (Pi-Shaped Graduates) นั่นคือ เรียนแพทย์ 6 ปี และเปิดโอกาสให้นักศึกษาแพทย์ที่มุ่งมั่นทุ่มเทและมีศักยภาพสูง สามารถเลือกเรียนสาขาอื่นในระดับปริญญาโทตามที่สนใจระหว่างเรียนแพทย์ควบคู่ไปได้อีก 1 สาขา โดยอาจเรียนจบทั้ง 2 ปริญญาได้ในเวลา 6 ปีเท่าเดิม เราจึงเรียกหลักสูตรใหม่ปี 2564 นี้ว่า “Hybrid Program 61” โดยคณะแพทย์ฯ มีความร่วมมือกับคณะ/วิทยาลัยอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ 1.) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2.) วิทยาลัยการจัดการ 3.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ 4.) คณะสาธารณสุขศาสตร์ ในการพัฒนารายวิชา/หลักสูตรระดับปริญญาโทร่วมกัน เพื่อร่วมกันผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ข้ามศาสตร์ในด้านต่าง ๆ อีกทั้งยังเกิดความร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล และร่วมกันสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่มีคุณค่า ทันสมัย โดยในอนาคตอาจจะออกแบบพัฒนาความร่วมมือสาขาอื่นๆ อีกมากมาย และพัฒนาในระดับนานาชาติ

mou_210329_13

รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง  ธนสุกาญจน์ 
คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง  ธนสุกาญจน์  คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวว่า คณะสาธารณสุขศาสตร์จัดการเรียนการสอน การผลิตมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตด้านสาธารณสุขศาสตร์นานาชาติ มากว่า 50 ปี จนได้การรับรองมาตราฐาน AUN-QAและมาตราฐาน Asia Pacific Academic Consortium of Pubic Heath มาโดยตลอด  การร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศให้สามารถสร้างสุขภาพ ป้องกัน และรักษาโรคได้อย่างเข้มแข็ง เท่าทันปัญหาการเกิดโรค และเทคโนโลยีการรักษา รวมถึงส่งเสริมป้องกันโรคที่เกิดในปัจจุบัน  นอกจากนี้ การร่วมมือกับหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของทวีปออสเตรเลีย และอเมริกา จะทำให้แพทย์ที่จบหลักสูตรนี้ สามารถประกอบอาชีพในระดับภูมิภาค รักษาส่งเสริมสุขภาพแก่ประชากรโลกได้ สมดังปณิธานของสมเด็จพระราชบิดาในการสร้างประโยชน์ให้สังคมโลก

mou_210329_10

อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์
คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์  คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ให้มีความรู้ความเข้าใจความสามารถและทักษะทางเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ประกอบกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำสมัยได้ถูกนำมาใช้สนับสนุนพันธกิจทางการแพทย์ในทุกกิจกรรมในองค์กร ตั้งแต่การดูแลรักษาผู้ป่วยจนไปถึงการบริหารจัดการงานต่างๆ ในสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีความรู้ และทักษะที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้ หรือทำงานวิจัย รวมทั้งสร้างนวัตกรรมที่ผสมผสานความรู้ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เพื่อนำผลลัพธ์ไปใช้ประโยชน์ และสร้างความก้าวหน้าทางการแพทย์

โดยความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรมหาบัณฑิตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ หรือ Medical Information Technology นั้น เป็นการพัฒนาหลักสูตร เพื่อตอบสนองกับความต้องการของสถาบันทางการแพทย์ ที่ต้องการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีองค์ความรู้และทักษะทางด้านเทคโนโลยีเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ โดยสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในด้านบริการทางการแพทย์ การวิจัย และสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและประชากรโลกต่อไป

mou_210329_5

รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา  รักธรรม
คณบดีวิทยาลัยการจัดการ

รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา  รักธรรม  คณบดีวิทยาลัยการจัดการ กล่าวว่า ในความร่วมมือทางการศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถอย่างลึกซึ้งในศาสตร์ ด้านการจัดการ และเพื่อเป็นการสนับสนุน และส่งเสริมการจัดการทางด้านการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ด้วยการจัดการที่ทันสมัย สามารถนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและยั่งยืน สำหรับหลักสูตรการจัดการ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้วิชาของการจัดการด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการตลาด การเงิน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารกลยุทธ์ การบริหารข้อมูลและเทคโนโลยี และวิชาเลือกเฉพาะสาขา อาทิ Healthcare Business Analytics and Data Science/ Innovation and Change Management for Healthcare Business/ Digital Marketing for Healthcare Business/ Logistics and Supply Chain Management for Healthcare Business เป็นต้น หลักสูตรทุกหลักสูตรของวิทยาลัยการจัดการ ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพระดับนานาชาติ จาก AACSB ซึ่งเป็นสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีทั่วโลก ดังนั้น ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง รวมทั้งการมีส่วนเข้าไปเรียนรู้จากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

mou_210329_8

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพร รับคำอินทร์

รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและประกันคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพร  รับคำอินทร์  รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและประกันคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกศาสตร์สาขาวิชา สำหรับด้านการแพทย์ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย รวมทั้งแนวทางการศึกษาในปัจจุบัน บัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจในด้านวิศวกรรมศาสตร์ จะมีโอกาสในการเรียนรู้การบูรณาการทางการแพทย์ที่มากขึ้น และมีโอกาสในการคิดค้นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ทางด้านการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สร้างบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้และทักษะในด้านวิศวกรรมศาสตร์ และนวัตกรรมด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ มีคุณค่า และทันสมัย เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย