มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดห้องฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Mahidol BLS Training Center)

กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ม.มหิดล จัดโครงการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
September 16, 2020
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการวิจัย (MOU) ระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กับ บริษัทเกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด
September 16, 2020

มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดห้องฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Mahidol BLS Training Center)

DSC_4956

วันที่ 16 กันยายน 2563 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิด “ห้องฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ” (Mahidol BLS Training Center) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รท.ทพ.ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดโครงการ พร้อมนี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สรายุทธ สุภาพรรณชาติ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ม.มหิดล ศาสตราจารย์ คลินิก นพ.พงษ์ศักดิ์ โค้วสถิตย์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและและวิจัยอาวุโส คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รองศาสตราจารย์ ดร. นพ.ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล คณะผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมในพิธีเปิด ณ บ้านมหิดล หอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ห้องฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Mahidol BLS Training Center) เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการ Mahidol Digital Convergence University (Mahidol DCU) โดยมีการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และระบบฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ จากภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เพื่อตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรมีความรู้และทักษะขั้นพื้นฐานการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ การเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การเรียนรู้ภาคทฤษฎีในระบบออนไลน์ (MUx) เป็นรายวิชาเรียนตามอัธยาศัย พัฒนาโดยภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รายวิชา “กู้ชีพ กู้ใจ… ใครๆ ก็ทำได้” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการกู้ชีพพื้นฐานและการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ ทั้งนี้ ผู้ผ่านการเรียนรายวิชาดังกล่าวจะได้รับใบรับรองเพื่อนำมาเป็นหลักฐานการฝึกภาคปฏิบัติ ส่วนที่ 2 การเรียนรู้ภาคปฏิบัติ ในห้องฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Mahidol BLS Training Center) ซึ่งเป็นสถานที่ในการเรียนรู้และทดสอบการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานด้วยการทำ CPR และการใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) อย่างถูกต้อง และปลอดภัย เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดลและสังคม