ม.มหิดล ร่วมงานเปิดตัว “วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences) หรือ ธัชวิทย์”

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมบรรยายในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx)”
May 6, 2022
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือทางวิชาการโครงการบริการสุขภาพช่องปาก ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ และทันตแพทยสภา
May 6, 2022

ม.มหิดล ร่วมงานเปิดตัว “วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences) หรือ ธัชวิทย์”

วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงพัชรีย์ เลิศฤทธิ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.บุณยฤทธิ์ ปัญญาภิญโญผล รองคณบดีฝ่ายบริหารและภารกิจพิเศษ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัว “วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences) หรือ ธัชวิทย์” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ธัชวิทย์ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย” ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงาน ณ ห้องแถลงข่าว สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

จากนั้น เป็นการเสวนา เรื่อง “ธัชวิทย์ ก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงพัชรีย์ เลิศฤทธิ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการรายการโดย รองศาสตราจารย์ พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences) หรือ ธัชวิทย์ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาประเทศ (Creative Science & Technology) สู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่รวบรวมบุคลากรคุณภาพ ทั้งนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ รวมถึงแหล่งความรู้และผลงานการวิจัยจากทุกภาคีเครือข่าย เพื่อการขับเคลื่อน ส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของชาติ อีกทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันบนเวทีโลก โดยดำเนินการทำงานคู่ขนานกับ “ธัชชา” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อเป้าหมายสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้พันธกิจในการขับเคลื่อน 3 มิติหลัก คือ มิติที่ 1 คลังคิดนักวิทย์ คือแหล่งรวบรวมเหล่านักวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อเป็นกำลังในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว โดยผ่านการทำงานของเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการใช้องค์ความรู้ข้ามศาสตร์แบบบูรณาการในลักษณะสหวิทยการ มิติที่ 2 กลุ่มริเริ่มงานวิจัยชั้นนำ สถาบันนำร่องเพื่อรวบรวมกลุ่มคนที่มีความเป็นเลิศในทุกด้าน และทุกสถาบันของประเทศ เพื่อดำเนินการร่วมมือทำงานขับเคลื่อน สนับสนุน และพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ประเทศต้องการ มิติที่ 3 ผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถเป็นเลิศในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ โดยประสานความร่วมมือกับสถาบันทางการศึกษา สถาบันประกอบการภาครัฐและเอกชน ดำเนินการด้านการเรียนการสอน การวิจัย การฝึกปฏิบัติการและการทำงานร่วมกับสถานประกอบการจริง เพื่อเพิ่มทักษะด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 และให้สามารถปรับตัวในการทำงาน และการใช้ชีวิตภายใต้บริบทของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ