สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าวในประเด็น “ทารกนอนหลับ – ตาย”

สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 6 ปี
April 8, 2022
มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมประชุมการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางบริการวิชาการ (Academic Hub)
April 8, 2022

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าวในประเด็น “ทารกนอนหลับ – ตาย”

วันที่ 8 เมษายน 2565 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย นายประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานสื่อสาธารณะและเจ้าหน้าที่วิจัยด้านการพิเคราะห์เหตุการณ์ตายในเด็ก และทีมพิเคราะห์การตายในเด็ก ร่วมการแถลงข่าวในประเด็น “ทารกนอนหลับ – ตาย” โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดขึ้น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน ผลการเก็บกรณีศึกษาในการยกระดับความตระหนักถึงความเสี่ยงในประเด็น “ทารกนอนหลับ – ตาย” ณ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่า อีกครั้งหนึ่งที่เราได้อ่านข่าวการตายของเด็กทารกจากการนอน เด็กทารกใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนอน การนอนหลับให้เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กทารกทั้งร่างกายและสมอง คุณพ่อคุณแม่อาจคิดไม่ถึงว่าการนอนก็เป็นอีกกิจวัตรหนึ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน

เด็กตายจากการนอนข้างแม่ ข่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกของแม่ที่ทำงานจนอ่อนเพลีย หรือแม่ที่กินยาแก้หวัด หรือยาอื่นที่ทำให้หลับสนิท ก่อนล้มตัวลงนอนข้างๆ ลูกน้อยวัยก่อนหกเดือน พอตื่นขึ้นมาก็พบว่าได้นอนทับลูกน้อยเอาไว้ เมื่อยกตัวขึ้นมาพบว่าลูกหน้าตาเขียวคล้ำ หยุดหายใจแน่นิ่ง เนื้อตัวซีดเย็น เสียชีวิตไปแล้ว สาเหตุเกิดจากการนอนทับลูกจนขาดอากาศหายใจ ซึ่งเวลาเพียง 4 นาทีสมองของเด็กก็อาจเสียหายจนไม่สามารถกลับคืนสภาพได้ เป็นเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อยในทุกประเทศที่มีวัฒนธรรมการจัดให้ทารกนอนข้างๆ อย่างใกล้ชิดแบบไหล่ชนไหล่การศึกษาพบว่า การนอนข้างกันมีความเสี่ยงต่อการตายเฉียบพลันของทารกในขณะนอนถึง 40 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่นอนแยกที่นอนกับพ่อแม่หรือผู้นอนร่วมอื่นๆ การศึกษาเรื่องการนอนทับทารก(Overlying) ของ Nakamura ในปี 1990-1997 พบเด็กจำนวน 121 ราย เสียชีวิตจากการถูกนอนทับโดยผู้ใหญ่หรือเด็กอื่นที่นอนร่วมเตียง การศึกษาจากฐานข้อมูลของศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าในช่วง 1999-2001 พบอีก 58 ราย ร้อยละ 77 ของเด็กที่ถูกนอนทับตายจะมีอายุน้อยกว่า 3 เดือน

วัฒนธรรมไทยเราพ่อแม่มักนอนเตียงเดียวกับลูกจนโต การปฏิบัติดังกล่าวมีความเสี่ยงในการนอนทับเด็กเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน คนที่มีความเสี่ยงในการนอนทับเด็กทารกคือคนอ้วนมากๆ คนที่กินยานอนหลับ ยาทำให้ง่วงเช่นยาแก้หวัด ยากล่อมประสาท คนเมาเหล้า และเด็กโต เพราะคนเหล่านี้มักหลับสนิทเกินไป นอนทับแล้วไม่ยอมรู้สึกตัว ท่านอนที่อันตรายมากที่สุดสำหรับเด็กทารกคือ “การนอนคว่ำ” จากการวิจัยพบว่า การนอนคว่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อโรคการตายฉับพลันของเด็กทารกโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือที่เรียกกันว่าโรค SIDS (sudden infant death syndrome) ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีโครงการ “ให้เด็กนอนหงาย” (Back to sleep) โดยแนะนำให้จัดท่านอนเด็กเป็นท่านอนหงายเสมอ ตั้งแต่ปี 1992 พบว่าการตายจากโรค SIDS ลดลงอย่างชัดเจน จากการวิจัยหลายแหล่งพบว่าการนอนคว่ำมีความเสี่ยงต่อการกดทับจมูกปากจนขาดอากาศหายใจมากกว่าการนอนหงาย 2-7 เท่าตัว ดังนั้นเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ควรจัดท่าให้นอนหงายเท่านั้น เพราะเด็กทารกแรกเกิดยังตะแคงหน้า ยกศีรษะไม่เป็น อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรจับเด็กนอนคว่ำบ้าง แต่ทำได้เฉพาะในเวลาเด็กตื่น และมีผู้ดูแลเด็กเฝ้าดูอยู่ใกล้ชิด เพื่อให้เด็กได้ลดโอกาสการเกิดภาวะหัวแบนและได้ออกกำลังต้นแขนและหัวไหล่ให้เกิดความแข็งแรงด้วย เครื่องนอน ที่นอน หมอน ฟูก ผ้าห่ม มุ้งที่อยู่บนเตียง ถือเป็นปัจจัยร่วมที่ก่อให้เกิดการขาดอากาศหายใจได้ เบาะสำหรับเด็กต้องเป็นเบาะที่มีความแข็งกำลังดี ที่นอน ผ้าห่มนุ่มๆหนาๆ ขนาดใหญ่ๆ หน้าเด็กอาจจุ่มลงไปแล้วกดจมูกและปากเป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ ช่องว่างระหว่างเตียงผู้ใหญ่กับกำแพง หรือกับเฟอร์นิเจอร์อื่นที่นำมาวางใกล้กับเตียง ที่มีช่องว่างกว้างกว่า 6 ซม. แต่ไม่เกิน 23 ซม. อาจทำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี นำขาและลำตัวมาสอดใส่แล้วตกลงไป แต่ศีรษะติดค้างอยู่บนที่นอนโดยเท้าแตะไม่ถึงพื้น ทำให้ทารกเสียชีวิตในท่าคล้ายถูกแขวนคอได้ในเวลาไม่ถึง 4 นาที

ดังนั้น ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ นอนบนเตียงของผู้ใหญ่ ควรนอนเตียงเด็ก (ที่ได้มาตรฐาน) หรือนอนเบาะที่นอนเด็ก (ไม่ใช้เตียง) แยกจากเบาะที่นอนผู้ใหญ่ เด็กเล็กนอนเตียงผู้ใหญ่อาจมีอันตรายจากช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการจัดเตียง ช่องว่างที่มีขนาดกว้างกว่า 6 ซม. ในเด็กทารก (หรือขนาด 9 ซม. ในเด็กอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป) จะมีโอกาสที่ลำตัวเด็กจะตกลงไปและศีรษะติดค้างในท่าแขวนคอได้ “เตียงเด็กเล็ก” (crib) จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้กับเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี อย่างไรก็ตามก็ต้องเลือกใช้เตียงที่มีมาตรฐานความปลอดภัย ในบ้านเรามีมาตรฐานเตียงเด็กเล็กอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม มาตรฐานความปลอดภัยของเตียงเด็กเล็ก ซึ่งต้องมีคุณลักษณะดังนี้

– ราวกันตกมีซี่ราวห่างกันไม่เกิน 6 ซม.- ราวกันตกจะต้องมีตัวยึดที่ดี เด็กไม่สามารถเหนี่ยวรั้งให้ตกได้เอง – จากขอบบนของเบาะที่นอนถึงราวกันตกด้านบนต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 65 ซม. หรือ 3 ใน 4 ของความสูงเด็ก- เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียง และไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับราวกันตกเกินกว่าด้านละ  3 ซม.- ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าต้องไม่มีการตัดตกแต่งให้เกิดช่องว่าง – พื้นรองเบาะที่นอนต้องทึบและแข็ง- มุมเสาทั้ง 4 มุมต้องเรียบ มีส่วนนูนได้ไม่เกิน 1.5 มม.