คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จัดงานรำลึกครบรอบ 103 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข

มหาวิทยาลัยมหิดล หารือความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ University of York สหราชอาณาจักร
July 19, 2022
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานสัมมนาวิชาการ “MU Presidential Guests” ครั้งที่ 2 หัวข้อ “การออกแบบการเรียนการสอนรายบุคคล (Personalized Learning)”
July 19, 2022

คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จัดงานรำลึกครบรอบ 103 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข

19 กรกฎาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานรำลึกครบรอบ 103 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข หรืออาจารย์สตางค์ ผู้ก่อตั้งและคณบดีท่านแรกของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปูชนียบุคคลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ ทายาทศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้เกษียณอายุงาน ผู้บริหารสมาคมศิษย์เก่า สภาอาจารย์ บุคลากร นักศึกษาจากหน่วยงานภายในคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมวางพวงมาลัยสักการะรูปหล่อ ทำบุญทักษิณานุปทาน อุทิศส่วนกุศลแด่ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข และบุรพชนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถวายเครื่องไทยธรรม และถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์จากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

จากนั้น เป็นพิธีมอบรางวัล Mahidol Science Innovative Educator Award 2022 และรางวัล Mahidol Science Environment & Sustainability Award 2022 ยกย่อง 3 องค์กร 3 บุคคลต้นแบบ และ 1 โครงการ โดยนักศึกษาผู้ใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการศึกษาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อันเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน สานต่อปณิธานการใช้วิทยาศาสตร์พื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และการจัดการศึกษาพัฒนาบุคลากรวิทยาศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติของ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข

รางวัล Mahidol Science Environment & Sustainability Award 2022 เป็นรางวัลเชิดชูเกียรติที่มอบให้กับองค์กร และบุคคลที่มีผลงานเด่นด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนและได้รับการยอมรับในระดับประเทศ โดยรางวัลประเภทองค์กร ได้แก่ องค์กรอนุรักษ์ความหลากหลายของพืชและสัตว์ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากร อนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืชและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์กับมหาชนชาวไทย โดยศึกษาวิจัย และสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืชและทรัพยากร รวมถึงจัดให้มีระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชและทรัพยากรที่เชื่อมโยงถึงกันได้ทั่วประเทศ

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ทำการอนุรักษ์วิจัยสัตว์ทั้งในถิ่นและนอกถิ่นอาศัย เพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน เช่นโครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ ในปีงบประมาณ 2562 ที่ทำให้นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติสามารถขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ สามารถปรับสถานภาพจากสัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศไทย (Extinct in the wild: EW) เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง (Critically endangered: CR) ได้สำเร็จ โดยดึงชุมชนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ เพิ่มความเข้าใจด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ถูกต้อง ลดผลกระทบที่อาจเกิดจากความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ พร้อมสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์ ผ่านการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการทำเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ประเภทบุคคลมอบให้กับบุคคลต้นแบบ 2 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ผู้พัฒนา Scrap Lab หรือ ศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกๆ ของโลก ที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้และผลักดันนวัตกรรมอัพไซเคิล (Upcycle) เพื่อเป็นฐานสำหรับ Circular Economy โดยนำของเหลือใช้ที่เกิดจากการก่อสร้าง จากการผลิตเชิงอุตสาหกรรม และจากชุมชน รวมทั้งสถานพยาบาล ผ่านงานวิจัยและการเรียนการสอน มาพัฒนาเพิ่มมูลค่าด้วยกระบวนการ Upcycling และพัฒนาต่อยอดงานวิจัยและงานต้นแบบอัพไซเคิลต่าง ๆ ของศูนย์ปฏิบัติการฯ และศูนย์วิจัยฯ สู่การใช้งานจริงในงานสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง รวมถึงให้ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นต่อสังคมวงกว้างและองค์กรต่าง ๆ โดยมุ่งเป้าไปที่การยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างสู่ความยั่งยืนด้วยการผสานศาสตร์และศิลป์ และ Prof. Dr. Shabbir Gheewala จาก The Joint Graduate School of Energy and Environment, King Mongkut’s University of Technology Thonburi ผู้ดำเนินโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพของทรัพยากร การบริโภค และการผลิตที่ยั่งยืน อันมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของทรัพยากรและการบริโภคอย่างยั่งยืน รวมถึงกรอบนโยบายการผลิตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)

ประเภทโครงการนักเรียน นิสิต นักศึกษา มอบให้กับโครงการการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเกิดไฟป่าในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน โดยการเข้าถึงเด็กและ ชุมชนบ้านก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน ผลงานจาก ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำเสนอเรื่องความสัมพันธ์ของฝุ่น PM2.5 ในชุมชนกับการใช้ทรัพยากรป่าไม้ในรูปแบบการ์ตูนให้เด็ก ๆ ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้เรียนรู้ถึงที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนและความสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของคนในชุมชนสามารถกระตุ้นได้โดยผ่านเด็กนักเรียนในชุมชนไปยังผู้ปกครอง

รางวัล Mahidol Science Innovative Educator Award 2022 เป็นรางวัลเชิดชูเกียรติที่มอบให้กับองค์กรและบุคคลที่มีผลงานเด่นด้านการสอน และการถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งยังเป็นผู้ที่มีเทคนิคและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการถ่ายทอดความรู้จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน และได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ได้แก่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) องค์กรผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีทั้งในและนอกสถานศึกษา ผู้สร้าง “Project 14” นวัตกรรมบรรเทาวิกฤตการณ์ทางการศึกษาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ประเภทบุคคล ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีธรรม ลิมปานุภาพ อาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชื่อว่า ในสังคมแห่งเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน วิถีชีวิตผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การสร้างนวัตกรรมการศึกษาเพื่อสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและสังคม รวมถึงสอนให้คนรู้เท่าทันทันการเปลี่ยนแปลงของโลกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่สาธารณชนอย่างต่อเนื่องบนแพลตฟอร์มออฟไลน์และออนไลน์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังออกแบบกิจกรรมการทดลอง และจัดกิจกรรมส่งเสริมเยาวชนในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้แก่ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรของ สวทช. สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) อีกด้วย