ม.มหิดล โดยสถาบันโภชนาการ จัดการบรรยายพิเศษด้านอาหารทางการแพทย์ และอาหารวัตถุประสงค์พิเศษ ภายใต้แผนงาน RAINs for Thailand Food Valley ภาคกลาง

สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในสัญญาการตรวจหาสารต้องห้ามในนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31
May 5, 2022
รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยาย เรี่อง “การเตรียมความพร้อมเพื่อรับนโยบายของ Google workspace for Education policy”
May 5, 2022

ม.มหิดล โดยสถาบันโภชนาการ จัดการบรรยายพิเศษด้านอาหารทางการแพทย์ และอาหารวัตถุประสงค์พิเศษ ภายใต้แผนงาน RAINs for Thailand Food Valley ภาคกลาง

วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติเป็นประธานเปิด “การบรรยายพิเศษด้านอาหารทางการแพทย์ และอาหารวัตถุประสงค์พิเศษ ภายใต้แผนงาน RAINs for Thailand Food Valley ภาคกลาง” จัดโดย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวแนะนำโครงการและวัตถุประสงค์การจัดงานฯ นางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวแนะนำ Food Valley ณ โรงแรม Pullman King Power และผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้ งานดังกล่าว กำหนดจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2565

การบรรยายพิเศษด้านอาหารทางการแพทย์ และอาหารวัตถุประสงค์พิเศษ ภายใต้แผนงาน RAINs for Thailand Food Valley ภาคกลางนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดขึ้นเพื่อผลักดันให้เกิดงานวิจัยต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ โดยเน้นใช้ผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรกรรมของไทย และลดการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศ เนื่องด้วยอาหารทางการแพทย์และอาหารวัตถุประสงค์พิเศษเหล่านี้จำเป็นต่อคุณภาพชีวิต แต่ปัจจุบันมีราคาค่อนข้างสูง ต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลต่อความมั่นคงด้านโภชนาการและสุขภาพ รวมทั้งทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีปัญหาด้านเศรษฐานะไม่สามารถเข้าถึงอาหารเหล่านี้ได้ การจัดงานในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างพื้นที่ ร่วมกันระดมสมอง เพื่อให้ได้ข้อมูล ข้อจำกัด ปัญหา อุปสรรค แนวทางการแก้ไข และมาตรการสนับสนุน เพื่อให้เกิดการผลิตอาหารดังกล่าวได้เองภายในประเทศ หรือเติบโตจนสามารถเป็นส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ ของประเทศไทย

โดยกิจกรรมในวันแรกจะเป็นการบรรยายพิเศษ โดยผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อต่าง ๆ ที่เป็นความรู้ ข้อพิจารณาที่สำคัญ และมุมมองที่เกี่ยวกับการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าว และวันที่สองเป็นการทำ focus group เพื่อระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคและร่วมกันหาทางออก เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทางการแพทย์และอาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษในประเทศไทย โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรไทยอย่างยั่งยืน