สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานแถลงข่าว “วัดสมอง EF วัยรุ่นไทย ด้วยแบบประเมิน MU.EF-A”

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ ม.มหิดล รับการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาระดับส่วนงานตามเกณฑ์ EdPEx ประจำปี 2565
August 5, 2022
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเสวนาในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)”
August 5, 2022

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานแถลงข่าว “วัดสมอง EF วัยรุ่นไทย ด้วยแบบประเมิน MU.EF-A”

วันที่ 5 สิงหาคม 2565 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ อาจารย์ ดร.นุชนาฎ รักษี สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ ร่วมการแถลงข่าวในประเด็น วัดสมอง EF วัยรุ่นไทย ด้วยแบบประเมิน MU.EF-Aโดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สุขภาพ และปลอดภัยที่เหมาะสมกับเด็ก ขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่สังคมรวมถึงหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนทั้งภาครัฐและเอกชน นำไปสู่การวางนโยบายส่งเสริมวัยรุ่นไทยทุกคน ให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ณ ห้องเจริญคุณธรรม ชั้น 3 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผ่านระบบออนไลน์

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่า วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญที่เป็นรอยต่อจากเด็กสู่การเป็นผู้ใหญ่ และมีการเปลี่ยนแปลงทั้งฮอร์โมนและด้านร่างกายที่ต่อเนื่องจากการเจริญเติบโตของระบบประสาท เซลล์สมองเชื่อมต่อกัน synapse รวดเร็วมาก มีการสร้างไมอีลินหุ้มแอกซอนมากขึ้น ประกอบกับสมองส่วนอารมณ์เจริญเติบโตเร็วกว่าสมองส่วนหน้า การคิดเชิงบริหาร (EF) หรือส่วนเหตุผล วัยรุ่นจึงมักใช้อารมณ์มาใช้ในการตัดสินใจมากกว่าใช้เหตุผล คิดเร็วทำทันที และยับยั้งชั่งใจไม่ค่อยดี ซึ่งสมองส่วนหน้านั้นมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทักษะ EF เพราะทักษะ EF คือการทำหน้าที่ระดับสูงของสมองส่วนหน้า ที่ช่วยให้เราควบคุมอารมณ์ ความคิด การกระทำ จนเกิดพฤติกรรมที่มุ่งสู่เป้าหมาย (Goal directed behaviors) ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กวัยรุ่นควบคุมตัวเอง มีวิจารณญาณในการคิด ตัดสินใจที่เหมาะสม ในสถานการณ์ต่าง ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล “เป็นสถาบันวิชาการระดับชาติมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมและความร่วมมือในการพัฒนาและคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวเพื่อนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืน” จึงมีงานวิจัยวิชาการที่สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สุขภาพ และปลอดภัยที่เหมาะสมกับเด็ก ทั้งการเผยแพร่ในวงกว้าง และขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่สังคมแก่หน่วยงานทุกภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนทั้งภาครัฐและเอกชน นำไปสู่การวางนโยบาย แผนงานเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมวัยรุ่นไทยทุกคน ให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ส่งผลต่อด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและการศึกษาของประเทศในระยะยาว สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นความสำคัญนี้จึงได้ทำโครงการวิจัย “การพัฒนาแบบวัดความสามารถการบริหารจัดการของสมองขั้นสูง (EF) สำหรับวัยรุ่นไทย” นี้ขึ้นโดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

อาจารย์ ดร.นุชนาฎ รักษี กล่าวว่า ทักษะ EF พัฒนาสูงสุดช่วงปฐมวัยและทอดยาวจนถึงวัยรุ่น และเจริญเติบโตเต็มที่เมื่ออายุ 25 ปี ดังนั้นการประเมินทักษะ EF ในวัยรุ่นในช่วงที่ทักษะ EF กำลังพัฒนาจึงมีความสำคัญมาก และยังไม่มีแบบวัดทักษะ EF เกณฑ์มาตรฐานวัยรุ่นไทย จึงได้ทำวิจัยเพื่อพัฒนาแบบประเมินทักษะสมองขั้นสูงการคิดเชิงบริหาร (EF) สำหรับวัยรุ่นไทย ฉบับประเมินตนเอง ในเด็กช่วงอายุระหว่าง 11-18 ปี (Mahidol University Executive Function Inventory-Adolescent : MU.EF-A) ที่ประกอบด้วยข้อคำถามพฤติกรรม จำนวน 42 ข้อ ทั้ง 8 ตัวบ่งชี้ทักษะ EF ของวัยรุ่น ได้แก่ การหยุด ยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control), การติดตามประเมินผลด้วยตนเอง (Self-Monitor), การเปลี่ยน/ความยืดหยุ่นในการคิด (Shift /Cognitive Flexibility), การควบคุมอารมณ์ (Emotional control), ความจำขณะทำงาน (Working Memory), การวางแผนจัดการ (Plan/Organize), ด้านการทำงานจนสำเร็จ (Task completion), ด้านการจัดการวัสดุ/สิ่งของของตัวเองให้เรียบร้อย (Organization of materials) ที่เด็กใช้ในการประเมินตนเอง และมีการตรวจสอบคุณภาพของแบบวัด โดยวัดทั้งความเที่ยงตรงตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ และความเชื่อมั่น เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้แบบประเมินในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 จึงได้พัฒนาระบบการประเมินและการเก็บรวบรวมสถานการณ์ทักษะ EF วัยรุ่นไทย ผ่านเว็บไซต์ www.MUEF-teenager.com

จากแบบประเมินทำให้ทราบสถานการณ์ EF วัยรุ่นไทยในภาพรวมประเทศทั้ง 5 ภูมิภาคของวัยรุ่น จำนวน 2,400 คน พบว่า คะแนนเฉลี่ยทักษะ EF ภาพรวมเด็กวัยรุ่นไทยทั้งประเทศส่วนใหญ่ อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยระดับปานกลาง ร้อยละ 45.17, รองลงมา คือ ระดับดี ร้อยละ 23.13, ระดับควรพัฒนา ร้อยละ 22.67,ระดับดีมาก ร้อยละ 5.54, และระดับควรปรับปรุง ร้อยละ 3.50 ซึ่งพบว่าทักษะ EF วัยรุ่นไทยในภาพรวมอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยที่ควรพัฒนาและปรับปรุงที่ร้อยละ 26.12  เมื่อพิจารณาจำแนกตามกลุ่มอายุ และเพศ ในกลุ่มเด็กที่มีคะแนนทักษะ EF ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยนั้น พบว่า ในช่วงอายุ 11-13 ปี มีคะแนนทักษะ EF ในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ร้อยละ 27.11 ในเด็กผู้ชาย และร้อยละ 21.90 ในเด็กผู้หญิง ส่วนในกลุ่มช่วงอายุ 14-18 ปี มีคะแนนทักษะ EF ในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ร้อยละ 26.58 ในเด็กผู้ชาย และร้อยละ 27.35 ในเด็กผู้หญิงตามลำดับ ผลทักษะEFรายด้านพบว่า ด้านที่มีคะแนนทักษะ EF ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมากที่สุดคือความสามารถการทำงานจนสำเร็จร้อยละ 35.21, รองมาคือด้านการควบคุมอารมณ์ร้อยละ 34.54 และด้านการหยุด ยับยั้งพฤติกรรม ร้อยละ 34.08  และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่อยู่ในโรงเรียนในเขตเมืองและนอกเมืองพบว่า คะแนนเฉลี่ยทักษะ EF ในภาพรวม และรายด้านทั้ง 8 ด้าน ของเด็กที่เรียนในโรงเรียนเขตเมือง มากกว่าโรงเรียนนอกเขตเมือง โดยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 สิ่งที่สำคัญของการประเมินทำให้เราทราบสถานการณ์ทักษะสมอง EF เด็กไทย ทำให้เราทราบจุดเด่นและความบกพร่องของทักษะ EF ของเด็กแต่เนิ่น ๆ เพื่อฟื้นฟูส่งเสริมได้ตรงจุด ทันท่วงที และนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความพร้อมให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ที่ปรับตัวได้ แก้ปัญหาเป็น และประสบความสำเร็จในการเรียนการทำงาน และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า ในนามของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมในการแถลงข่าว “วัดสมอง EF วัยรุ่นไทยด้วยแบบประเมิน MU.EF-A” ในวันนี้ การแถลงข่าวครั้งนี้นับเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแสดงให้เห็นถึงการยกระดับการต่อยอดผลงานวิจัย การขับเคลื่อนงานสู่การใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการขยายผลไปยังหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ที่มีความเกี่ยวข้อง รวมถึงการผลักดันให้เกิดกลไกการพัฒนาด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหน่วยงานหลักของประเทศในการบริหารจัดการแผนงานวิจัยและนวัตกรรม และสนับสนุนกลไกการพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ได้วางแผนขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนานวัตกรรม การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการนำผลสำเร็จจากงานวิจัยและนวัตกรรมมาสู่การแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มคุณภาพชีวิต การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โครงการการพัฒนาแบบวัดความสามารถการบริหารจัดการของสมองขั้นสูงฉบับประเมินตนเอง สำหรับวัยรุ่นไทย เป็นโครงการวิจัยวช. ให้การสนับสนุนเพื่อให้ได้เครื่องมือ ได้แบบวัดในการบริหารจัดการสมองขั้นสูง สำหรับวัยรุ่นของไทย สามารถที่จะใช้ในการประเมินตนเอง โดยมีข้อคำถามที่เหมาะสมกับบริบทของไทย ใช้ได้ง่าย มีความเที่ยงตรง มีคุณภาพ และยังสามารถนำไปใช้ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญยังเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาคการศึกษาที่จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายให้สอดรับและส่งเสริมทักษะของวัยรุ่นไทยได้ในอนาคต แบบประเมินดังกล่าวจะช่วยให้สามารถเข้าใจและสามารถประเมินความคิด ประเมินพฤติกรรมของวัยรุ่นในช่วงอายุระหว่าง 11 – 18 ปี โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคิดแก้ไขปัญหา การวางแผน การตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ การตระหนักรู้ตนเอง และมีความเหมาะสมกับบริบททางสังคมของเด็กไทย ซึ่งหากเด็กไทยได้รับการติดตามประเมินทักษะ EF เป็นระยะ ๆ จะช่วยให้สามารถค้นพบปัญหาและนำไปสู่การฟื้นฟู การส่งเสริมเด็กวัยรุ่นไทยได้ตรงจุดและทันท่วงที ก็จะเป็นประโยชน์ในการที่จะลดปัญหาสังคม นำไปสู่การขับเคลื่อนทางนโยบาย และยังส่งเสริมให้เด็กวัยรุ่นไทยในแต่ละภูมิภาคท้องถิ่นได้มีความพร้อมในด้านการศึกษาและลดปัญหาพฤติกรรมในเด็ก และยังเป็นในเรื่องของการลดการบกพร่องทางทักษะและยังสามารถช่วยในการสนับสนุนการบริหารจัดการของสมองขั้นสูงเป็นสำคัญอีกด้วย