สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าวในประเด็น “ทางเท้าอันตราย ทางม้าลายมรณะ”

พิธีเปิดการอบรม “การประเมินมหาวิทยาลัยส่งเสริมสุขภาพด้วยเครื่องมือ Healthy University Rating Systems (HURS)” รุ่นที่ 1
March 29, 2022
สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม จัดสัมมนา หัวข้อ “พลิกโฉมและเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย ด้วยงานวิจัยทางเภสัชวิทยา”
March 29, 2022

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าวในประเด็น “ทางเท้าอันตราย ทางม้าลายมรณะ”

วันที่ 29 มีนาคม 2565 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และหัวหน้าโครงการพิเคราะห์เหตุการณ์ตายในเด็ก มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวในประเด็น “ทางเท้าอันตราย ทางม้าลายมรณะ” โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ทางเท้า ทางม้าลาย พร้อมทั้งปลูกฝังวินัยในเด็ก เยาวชน และประชาชน ให้ใช้ทางม้าลายข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย ณ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีคนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่เสียชีวิตบนท้องถนนจำนวนมาก ในปี 2564 มีผู้บาดเจ็บ 879,940 คน และเสียชีวิต 13,425 คนจากอุบัติเหตุทางถนน (ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน ThaiRSC) จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนของกรมทางหลวงในช่วงปี 2556-2560 พบว่า ลักษณะของการชนที่ทำให้เกิดความรุนแรงสูง ได้แก่ อุบัติเหตุรถชนคนเดินเท้า ที่จัดเป็นอุบัติเหตุที่มีดัชนีความรุนแรงสูงสุด โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 55 ราย ต่ออุบัติเหตุ 100 ครั้ง เฉลี่ยปีละ 740 คนที่เสียชีวิต กลุ่มคนเดินเท้าส่วนใหญ่ (56.27%) บาดเจ็บเพราะถูกรถจักรยานยนต์ชน โดยมีเด็ก 0-9 ขวบบาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มผู้ใหญ่วัย 45-59 ปี คนเดินเท้าทั่วประเทศมีสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุในเขตพื้นที่นครบาล ซึ่งก็คือ กรุงเทพมหานคร สูง 1 ใน 3 (34%) เมื่อเทียบกับจำนวนการรับแจ้งทั่วประเทศ กล่าวคือ ถนนในกรุงเทพฯ มีคนเดินเท้าเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 250 คน ทุกเหตุเราจะพบปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุที่สามารถนำไปสู่การป้องกันหรือลดความรุนแรงแรงของการบาดเจ็บได้เสมอ แต่หลายครั้งเราไม่ได้เก็บข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์และบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ ข้อมูลถูกสนใจโดยกระแสสังคมถูกนำมากดดันขับเคลื่อนหน่วยงานจุดอ่อนให้ไปแก้ไข แต่แล้วไม่กี่วันกระแสนั้นก็จางหายไป การแก้ไขป้องกันก็หยุดชะงัก

หลังจากการเสียชีวิตของคุณหมอกระต่าย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ซึ่งถูกบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิตระหว่างเดินข้ามทางม้าลายใกล้ที่ทำการสำนักงานเขตราชเทวี กทม. และสถานีตำรวจพญาไท สองหน่วยงานที่บ่งบอกถึงความอ่อนแอของระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นภายในกรุงเทพมหานคร มหานครขนาดใหญ่ หลังการตายเกิดกระแสสังคมตื่นตัวช่วยกันค้นหา ขุดคุ้ย ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ตามหาวงจรปิดหน้ารถ ตามถนน แล้วนำมาวิเคราะห์เหตุการเสียชีวิต ค้นหาปัจจัยเกี่ยวข้องกับเหตุตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เช่น บิ๊กไบค์ไม่มีทะเบียน ไม่ต่อ พ.ร.บ. ซื้อขายหลายทอดแบบโอนลอย ซึ่งจากเหตุนี้ได้มีการสั่งการให้ตรวจสอบการนำรถผิดกฎหมายมาวิ่งในท้องถนนอย่างจริงจังมากขึ้น ระหว่างเกิดเหตุผู้ขับขับขี่ด้วยความเร็วสูงประมาณ 108-128 กมต่อชม ในพื้นที่ชุมชน วิ่งชิดขวาตลอดไม่ยอมชิดซ้าย ชนขณะที่รถอื่นด้านซ้ายจอดหยุดให้ผู้ข้ามแล้ว ทางข้ามไม่มีสัญญาณไฟช่วย ซึ่งทางตำรวจ กรุงเทพมหานคร ขนส่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก้ไขในจุดที่เกิดเหตุ โดยการทาสีใหม่ ขยายทางม้าลาย ติดตั้งสัญญาณไฟและกล้องเอไอ ฯลฯ นอกจากนั้นยัง สั่งให้สำรวจทางม้าลาย ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด เพื่อปรับปรุงแก้ไขในเบื้องต้น ซึ่งกระแสสังคมเรียกร้องต้องการให้เหตุการณ์นี้ นำไปสู่การผลักดันให้ทางม้าลายในไทย เป็นทางม้าลายจริงๆ ให้คนขับรถต้องหยุดให้ข้ามจริงๆ เหมือนญี่ปุ่น มีการสำรวจโดยซูเปอร์โพลเรื่องทางม้าลาย พบว่า ร้อยละ 99.7 ไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่บังคับใช้ กฎหมายจริงจังจับปรับรถที่ไม่จอดให้คนข้าม และร้อยละ 90 อยากให้มีกล้องติดตั้งจับผิดรถที่ไม่จอดให้คนข้ามถนน ตามที่พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้ระบุในหลายมาตราที่ยืนยันว่า ถนนไม่ใช่เป็นเอกสิทธิของคนใช้รถยนต์ แต่คนเดินเท้าก็คือผู้ที่มีสิทธิใช้ถนนด้วยความปลอดภัย (เช่น พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 32 ได้รับรองสิทธิของคนเดินเท้าไว้ว่าผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถชน หรือโดนคนเดินเท้า)
ท้ายที่สุดนี้ ขอสนับสนุน นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาของ WHO ด้านการป้องกันการบาดเจ็บ ที่ให้ข้อเสนอแนวทางที่สำคัญในการป้องกัน “ทางเท้าอันตราย ทางม้าลายมรณะ” ไว้ว่า
1.การเสียชีวิตของคุณหมอกระต่ายจะต้องเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเพื่อความปลอดภัยของคนเดินถนนในสังคม
2. เกิดเป็นวัฒนธรรมการหยุดรถให้คนเดินข้ามตรงทางข้าม
3. ขับขี่รถไม่เกิน 30 กม./ชม.ในเขตชุมชนเมือง ตามข้อแนะนำในแผนโลกเพื่อความปลอดภัยทางถนนขององค์การอนามัยโลก 2021
4. บังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวดจริงจัง
5.ปลูกฝังสร้างวินัยเด็กเยาวชน ประชาชนให้ข้ามถนนอย่างปลอดภัยข้ามถนนบนทางท้าลาย และหยุดรถให้คนเดินข้ามผ่านระบบการศึกษาและการรณรงค์ทุกช่องทาง
6.ปรับเปลี่ยนทางข้ามทุกแห่งทั่วประเทศให้ได้ตามแบบมาตรฐานทางข้าม ไม่ใช่แค่ทางม้าลาย

เพื่อช่วยสร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ทางเท้า ทางม้าลาย พร้อมทั้งปลูกฝังวินัยในเด็ก เยาวชน และประชาชน ให้ใช้ทางม้าลายข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย