มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร จัดงาน SPACE-F batch 2 Incubator Demo Day โชว์ผลงานสตาร์ทอัพที่ผ่านการบ่มเพาะ รุ่นที่ 2

มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ก้าวใหม่สู่การใช้เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx)”
August 23, 2021
คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ 37/2564 ของสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา
August 23, 2021

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร จัดงาน SPACE-F batch 2 Incubator Demo Day โชว์ผลงานสตาร์ทอัพที่ผ่านการบ่มเพาะ รุ่นที่ 2

วันที่ 23 สิงหาคม 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์ ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ผู้แทนเครือข่ายพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คุณต้องใจ ธนะชานันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร และคุณสุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ ประเทศไทย ร่วมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานและแสดงความยินดีกับสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมนำเสนอผลงานสตาร์ทอัพที่ผ่านการบ่มเพาะ รุ่นที่ 2 ในงาน SPACE-F batch 2 Incubator Demo Day ภายใต้โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SPACE-F โดยในปีนี้มีกลุ่มสตาร์ทอัพ จำนวน 10 ทีม ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพกลุ่ม Incubator หรือกลุ่มสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ได้เข้ามาเรียนรู้ทั้งด้านการวางแผนธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถขายได้และเป็นที่นิยมของตลาด รวมไปถึงการผลักดันให้ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับธุรกิจรายใหญ่ และได้รับการสนับสนุนลงทุนในอนาคต

มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความเข้มแข็งในการวิจัยด้านสุขภาพ มีทรัพยากร เทคโนโลยี และเครื่องมือทันสมัยที่พร้อมจะสนับสนุนนักวิจัย  และสร้างผลงานวิจัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีทางอาหาร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน นับเป็นงานวิจัยที่มีความโดดเด่นด้านหนึ่ง  ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ SPACE-F ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ถือเป็นเรื่องสำคัญในการร่วมกันสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านอาหาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ความต้องการอาหารเฉพาะบุคคลเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการแพทย์ ผู้ป่วยที่แตกต่างกันในแต่ละวัย ในแต่ละโรค ต้องการอาหารทางการแพทย์ที่ต่างกันไปเพื่อช่วยทั้งในด้านการป้องกันและรักษาโรค  ตลอดจนผู้ที่มีสุขภาพดีก็อาจต้องการอาหารที่แตกต่างกันเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของแต่ละคน ดังนั้น โครงการ SPACE-F ถือเป็นโครงการที่ดีเยี่ยมในการที่จะบ่มเพาะ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไปในทิศทางที่เหมาะสมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอาหารต่อไปในอนาคต

โครงการ SPACE-F เป็นโครงการความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมอาหารแห่งแรกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเป้าหมายมุ่งสู่ระดับโลก ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยมีกลุ่มพันธมิตร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็น Corporate Partner และในส่วนของ Supporting Partners ได้แก่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ปัจจุบัน มีสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการ ทั้งสิ้น 34 ราย ที่สามารถพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาดได้จริง โดยเน้นการสร้างประสิทธิภาพให้กับกระบวนการผลิตธุรกิจอาหารไทย รวมถึงการผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการ การสร้างรูปแบบของอาหารแห่งอนาคต รวมไปถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ การพัฒนาวัตถุดิบ การบริหารจัดการ และระบบทางนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตผู้คนที่กำลังเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น