มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือเพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไทย ภายใต้ “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” (Thai Space Consortium: TSC)

มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ บริษัท ก่อบุญณัฐ จำกัด
April 5, 2021
มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมการประชุมเครือข่าย The University Consortium of the 21st Century Maritime Silk Road (UCMSR)
April 5, 2021

มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือเพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไทย ภายใต้ “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” (Thai Space Consortium: TSC)

14

วันที่ 5 เมษายน 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไทย ภายใต้ “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” (Thai Space Consortium: TSC) ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรที่เกี่ยวข้องอีก 11 องค์กร โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี และ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในฐานะเลขานุการภาคีเครือข่าย ฯ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ความร่วมมือครั้งนี้ ณ ห้องกมลทิพย์บอลรูม โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพ

002

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม

003

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

“ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” มีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงในประเทศไทย การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรุ่นใหม่ ได้ร่วมกันสร้างและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กโดยใช้องค์ความรู้ภายในประเทศ เรียนรู้ ลงมือทำโดยตรง ทดสอบและควบคุมการใช้งานโดยฝีมือคนไทย รวมถึงออกแบบ และสร้างอุปกรณ์ Payload เพื่อใช้งานด้านต่างๆ โดยเป็นความร่วมมือของหน่วยงานวิทยาศาสตร์ชั้นนำ และสถาบันอุดมศึกษา รวม 12 แห่ง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งจะมีบทบาทสนับสนุนการทำงานของภาคีฯ ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ งานวิศวกรรม งานประยุกต์ งานวิจัยและพัฒนา งานสนับสนุนการศึกษา และงานสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม

ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย และ ดร.กุลภา ไชยวงศ์คต นักวิจัยหลังปริญญาเอก ได้นำเสนอผลงานเรื่อง “ระบบตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงจากรังสีคอสมิกเพื่อการประเมินและเตือนภัยสภาพอวกาศ” ผลงานดังกล่าวมีส่วนช่วยในการผลิตเครื่องตรวจวัดไอออนจากอวกาศ โดยมีการดำเนินงานร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือในนามภาคีความร่วมมืออวกาศไทยเพื่อการพัฒนาดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ ได้เริ่มการวิจัยเพื่อการออกแบบและสร้างระบบตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงจากรังสีคอสมิก เพื่อการประเมินและเตือนภัยสภาพอวกาศ เป็น Payload ลำดับที่ 2 ของดาวเทียม TSC1 ในชื่อเรียกว่า Polar Orbiting Ion Spectrometer Experiment หรือ “POISE” และมีแผนเสร็จสิ้นพร้อมส่งขึ้นโคจรในอวกาศปี พ.ศ. 2570

ทั้งนี้ ผลที่เกิดจากการดำเนินโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ สร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างงานในสายอาชีพวิทยาศาสตร์และสาขาอื่นๆ สร้างเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม สิ่งสำคัญที่สุด ที่ไม่อาจประเมินมูลค่าได้ คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในชาติ ให้หันมาสนใจการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ และสร้างความต้องการในการจ้างแรงงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศ นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ เช่น การผลิตชิ้นส่วน และอุปกรณ์ของดาวเทียม รวมทั้ง ระบบการสื่อสาร

14