มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม KICKOFF DAY HEALTHY MAHIDOL : “มหิดลสุขภาพดีวิถีใหม่”

คณะเทคนิคการแพทย์ ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ Teikyo University ประเทศญี่ปุ่น
December 22, 2021
ม.มหิดล ร่วมประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
December 22, 2021

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม KICKOFF DAY HEALTHY MAHIDOL : “มหิดลสุขภาพดีวิถีใหม่”

วันที่ 22 ธันวาคม 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม KICKOFF DAY  HEALTHY MAHIDOL : “มหิดลสุขภาพดีวิถีใหม่” เพื่อการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา อาจารย์ รวมถึงบุคลากรสายสนับสนุนให้มีสุขภาพดีวิถีใหม่ ภายใต้กิจกรรมขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ ผู้อำนวยการบริหาร สำนักงานเลขานุการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ที่ปรึกษาคณะทำงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ในเครือข่าย AUN-HPN ร่วมพิธีเปิดกิจกรรม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน เลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (AUN-HPN) เป็นประธานคณะทำงานของมหาวิทยาลัยมหิดล (Working Group Committee) ในเครือข่าย AUN-HPN กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและการดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพ ควบคู่ไปกับการยกระดับในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติด้านอื่น ๆ โดยคำนึงถึงบุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นส่วนสำคัญ ให้สามารถปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถแข่งขันในระดับโลกได้  โดยอ้างอิงกรอบการดำเนินงานด้านระบบและโครงสร้างพื้นฐานของ AUN – Healthy University Framework  โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน เกิดเป็นการดำเนินชีวิตแบบวิถีใหม่ หรือ NEW NORMAL ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยี การเว้นระยะห่างทางสังคม การดูแลใส่ใจสุขภาพทั้งตัวเองและคนรอบข้าง และการสร้างสมดุลชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของมหาวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบกันทุกภาคส่วน ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลเล็งเห็นความสำคัญและมีนโยบายและมาตรการช่วยเหลือบุคลากรและนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ ผู้อำนวยการบริหาร สำนักงานเลขานุการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นแกนนำในการส่งเสริมสุขภาพในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลมีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเชิงนโยบายที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของบุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และผลักดันให้สามารถดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพในมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ แสดงถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดลในการเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศและของภูมิภาคอาเซียนในงานสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ จากการที่มหาวิทยาลัยมหิดลรับอาสาเป็นองค์กรรับผิดชอบงานสร้างเสริมสุขภาพของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน หรือ AUN-HPN ผลงานสำคัญ 2 ประการของเครือข่ายนี้คือการจัดทำกรอบงานสร้างเสริมสุขภาพของมหาวิทยาลัย กับการพัฒนาเกณฑ์ประเมินระดับการสร้างเสริมสุขภาพของสถาบันอุดมศึกษา เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนของการทุ่มเทพลังในการสร้างเสริมสุขภาพของทุกคนในสถาบันการศึกษาและขยายแนวคิดออกไปสู่สังคม

รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน  เลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (AUN-HPN) และในฐานะประธานคณะทำงานของมหาวิทยาลัยมหิดล (Working Group Committee) ในเครือข่าย AUN-HPN กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในวันนี้ เพื่อสร้างการรับรู้กิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพของมหาวิทยาลัยไปสู่คณะ สถาบัน ทุกส่วนงาน ทุกวิทยาเขต และพื้นที่ในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหาร จนถึงผู้ปฏิบัติ รวมถึงการรับรู้ของภายนอกมหาวิทยาลัยให้ได้ทราบรายละเอียดกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ถึง มีนาคม 2565 ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.กิจกรรม เอ็มยู-เฮลตี้ ไลฟ์สไตล์ (MU-Healthy Lifestyle) 2.กิจกรรม HEALTHY BODY สร้างเสริมสุขภาพดีสู่วิถีปกติใหม่ NEW NORMAL 3.กิจกรรมสอนออนไลน์ให้สนุก และ 4.กิจกรรม รณรงค์ Zero Tolerance Areas ในกลุ่มนักศึกษา โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณบดี ตัวแทนบุคลากร และ นักศึกษา จากแต่ละส่วนงานเข้าร่วมกิจกรรมวันนี้