สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2564 “Children & Nature-deficit Disorder เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ”

โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาระดับหลักสูตรตามเกณฑ์ AUN-QA ระดับอาเซียน ปี 2565 (PREP4AUN-QA 2022) กิจกรรมที่ 2
March 16, 2021
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกระทรวงคมนาคม พัฒนาต่อยอดแอพพลิเคชั่น BKK Rail รวบรวมข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง
March 16, 2021

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2564 “Children & Nature-deficit Disorder เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ”

DSC_9963

วันที่ 16 มีนาคม 2564 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ Children & Nature-deficit Disorder”  มีการปาฐกถาพิเศษ และการบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวกับโรคขาดธรรมชาติของเด็ก รวมทั้งการนำเสนอข้อมูล สถานการณ์ของสังคมไทยที่มีภาวะความเสี่ยงของเด็ก เยาวชน และครอบครัวต่อภาวะโรคขาดธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ในการนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวรายงานวัตถุประสงค์และบรรยายในหัวข้อ เด็ก กับ “ความเสี่ยง” ในโลกธรรมชาติ โดยกล่าวว่า เรื่อง “เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ Children & Nature-deficit Disorder” เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเด็กๆ จะมีภาวะของการขาดธรรมชาติในหลายมิติด้วยกัน ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดมลพิษต่างๆ มากมาย การเลี้ยงดูเด็กของผู้ปกครองและผู้ดูแลที่ไม่มีเวลาให้กับเด็กอย่างเพียงพอ และการเข้ามาของโลกเสมือนจริง เด็กหลายคนแทนที่จะอยู่กับธรรมชาติในโลกแห่งความเป็นจริง ถูกกระตุ้น ถูกผลักดันให้กลับไปอยู่ในโลกเสมือนจริง ต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันในการเล่นเกมส์ หรือเล่นกับเพื่อนในโลกเสมือนจริง ซึ่งส่งผลให้เด็กเกิดภาวะของการขาดธรรมชาติ

ในโอกาสนี้ มีการบบรรยายพิเศษในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) กับการพัฒนาเด็กและเยาวชน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ปัญหาเรื่อง “เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ” ถือว่าเป็นการเปิดประเด็นมุมมองใหม่ๆ ให้สังคมไทยรับรู้รับทราบถึงปัญหาที่สังคมไทยควรกังวล เนื่องจากปัจจุบันนี้โลกเรากำลังเจอปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย มลพิษ และขยะเกินปริมาณกว่าที่จะกำจัดได้ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอย่างมาก และยังผลักดันให้เด็กและเยาวชนขาดการเข้าถึงและสัมผัสธรรมชาติได้ยากขึ้น ดังนั้น มหาวิทยาลัยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาพื้นที่สีเขียวและกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นมิตรกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้จากธรรมชาติมากขึ้น ให้รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยเป็นโลกอีกใบที่เด็กๆ สามารถที่จะเข้ามาเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข เพราะเด็กถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

จากนั้น เป็นการเสวนาในประเด็น “สถานการณ์เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ” โดย วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ดังนี้

อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริ เสวนาในหัวข้อ “รุ่นในร่ม In-door Generation เด็กกับการเรียนรู้โลกจริง โลกเสมือนจริง และ เหนือจริง” เปิดเผยว่า เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ คือ ภาวะที่เด็กขาดการติดต่อ การสัมผัสหรืออยู่ในบริบทแวดล้อมของโลกธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย ยิ่งทำให้เด็กเข้าสู่ภาวะที่อยู่กับสื่อดิจิทัลมากขึ้น และทำให้เด็กนั้นเข้าสู่โลกที่พึ่งพิงธรรมชาติน้อยลง เช่น ลดการใช้เวลาหรือทำกิจกรรมกับธรรมชาติ กลายเป็นว่าเด็กอยู่ในห้องแอร์ อยู่ในอาคารมากขึ้น ซึ่งลักษณะปัญหาเหล่านี้ทำให้ภูมิคุ้มกันหรือวิธีการเรียนรู้จากโลกเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นโรคขาดธรรมชาติ คือการที่ผู้เลี้ยงดู พ่อแม่ ทำให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้ติดต่อ ไม่ได้เชื่อมโยง ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ได้รู้จักเรียนรู้ ไม่ได้รู้จักซึมซับ หรือแม้กระทั่งไม่ได้ทำความเข้าใจกับธรรมชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร เสวนาในหัวข้อ “เด็กกับวิถีการเลี้ยงดูที่เปลี่ยนแปลงไป” เปิดเผยว่า ข้อมูลจากผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี2558 – 2559 โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูงถึงร้อยละ 67.1 เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูงถึง ร้อยละ 24.2 ทำให้โอกาสที่เด็กๆ ได้รับฝืนธรรมชาติการพัฒนาการของมนุษย์ ในขณะที่สมองของมนุษย์พร้อมที่จะเดิน พร้อมที่วิ่ง พร้อมที่จะใช้ร่างกายให้คล่องแคล่ว แต่กลับขาดโอกาส ไม่มีสถานที่ และเวลาให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นเพียงพอ ในขณะที่สมองพร้อมที่จะพูด แต่กลับมีเวลาในการมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่น้อยลง และในขณะที่สมองมนุษย์ ต้องพยายามเหลือเกินที่จะมีทักษะในการคิดเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็น แต่กลับไม่มีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุน กลายเป็นเด็กที่ร่างกายไม่แข็งแรง สมาธิไม่ค่อยดี อยู่กับคนอื่นไม่ค่อยได้ กลายเป็นว่าเราเลี้ยงเด็กที่พัฒนาการปกติให้กลับกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี ทยานศิลป์ เสวนาในหัวข้อ “เด็กกับวิถีการเลี้ยงดูที่เปลี่ยนแปลงไป” กล่าวว่าถานการณ์ของสังคมสูงวัยสามารถส่งผลต่อโรคขาดธรรมชาติในเด็กได้ เช่น ประเด็นเรื่องปู่ย่าตายายเลี้ยงหลานจะส่งผลต่อโรคขาดธรรมชาติของเด็กอย่างไรนั้น มองได้ 2 มุม มุมแรก การเลี้ยงดูของปู่ย่าตายายมีแนวโน้มที่จะทำให้เด็กเป็นโรคขาดธรรมชาติ จากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเลี้ยงหลาน เพราะการให้เด็กดูทีวี โทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้สูงวัยได้มีช่วงเวลาพัก อีกประการหนึ่งคือการอยู่อาศัยในเมือง บ้านในเมืองมักมีพื้นที่สีเขียวพื้นที่ธรรมชาติน้อย ประกอบกับปู่ย่าตายายบางท่านอาจมีความยากลำบากในการพาหลานไปเล่น ไปเรียนรู้ในพื้นที่ธรรมชาตินอกบ้าน เด็กมีโอกาสที่จะเป็นโรคขาดธรรมชาติได้ แต่ในมุมกลับกัน การที่เด็กถูกเลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายายก็อาจทำให้เด็กมีโอกาสได้อยู่และได้เล่นท่ามกลางธรรมชาติมากกว่าอยู่กับพ่อแม่ สมาชิกในครอบครัวต้องช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกปู่ย่าตายายในการทำหน้าที่เลี้ยงดูหลาน ส่วนภาครัฐหรือองค์กรต่างๆ ควรส่งเสริมความเข้มแข็งของปู่ย่าตายายในการเลี้ยงดูหลานให้เข้มข้นมากกว่าเดิม สามารถเล่นและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้ดี ทดแทนพ่อแม่ได้

การจัดประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 7 ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกวันที่ 18-19 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่ การปาฐกถาโดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ และ คุณดิสสกร กุนธร เจ้าของไอเดียสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา (สถาปัตย์) สนามเด็กเล่นธรรมชาติ เป็นองค์ปาฐก ในหัวข้อ “Children & Nature-deficit Disorder เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ” และ แพทย์หญิงเบญจพร ตันตสูติ จะมาบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “เข็นเด็กยุคไซเบอร์: เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้ขาดธรรมชาติ”