มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) ครั้งที่ 4/2563

มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ร่วมกิจกรรมปั่นจักรยาน “กาญจนบุรี ใจเกินร้อย ครั้งที่ 15 มนต์ไทรโยค”
November 15, 2020
มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงาน 2020 NCKU Overseas Week
November 16, 2020

มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) ครั้งที่ 4/2563

line_212341648006160_copy_1024x683

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมการประชุมในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ครั้งที่ 4/2563 (Yothi Medical Innovation District : YMID) พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้บริหารส่วนงาน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงศกร ตันติลีปิกร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมี นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมสุขภาพโยธี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 5 ห้อง 509 ณ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดม ศึกษา วิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กล่าวถึงนโยบายและแนวทางการผลักดันโครงการย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี และนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายและแนวทางการผลักดันโครงการย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ผ่านระบบออนไลน์ zoom จากนั้น นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมสุขภาพโยธี ได้สรุปผลการดำเนินงานย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ประจำปี 2563 แผนการให้บริการรถไฟฟ้าร่วมกับกรุงเทพมหานคร แผนการดำเนินงานและงบประมาณ ประจำปี 2564 โครงการสนับสนุนทุนงานนวัตกรรมการแพทย์ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ประจำปี 2564 และแนวทางพัฒนากฎบัตรสุขภาพของกฎบัตรแห่งชาติ และการพัฒนาเขตส่งเสริมสุขภาพราชเทวี-พญาไท

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้กล่าวถึงการใช้สมรรถนะและความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขของไทยในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจ กระตุ้นพฤติกรรมสุขภาวะ (Healthy Behaviors) การบริการรักษาสุขภาพ (Healthcare) สุขภาพดิจิทัล (Digital Health) โดยได้รับความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยใช้เครือข่ายกฎบัตร 18 พื้นที่ ร่วมงานกับภาคเอกชนในพื้นที่กฎบัตร เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป

ในโอกาสนี้ เครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “คณะกรรมการร่วมพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์สหสถาบันย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Joint IRB YMID : Multicenter Medical Innovation Clinical Trial)” โดย 6 องค์กร ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยมหิดล 2.กรมการแพทย์ 3. กรมแพทย์ทหารบก 4.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) 5. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ 6. เครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล ทั้งนี้ เพื่อร่วมพัฒนาระบบจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ โดยมี นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมสุขภาพโยธี ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พันเอก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุธี พานิชกุล กรมแพทย์ทหารบก ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นายอัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล ร่วมลงนามความร่วมมือครั้งนี้