มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพิธีเปิดตัว (Kick off) และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ AUN-QA Criteria Training (Version 4.0) รุ่น 2
May 25, 2023
ก้าวสู่ปีที่ 76 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
May 25, 2023

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพิธีเปิดตัว (Kick off) และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย

วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมพิธีเปิดตัว (Kick off) และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences: TAS) โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานและแถลงนโยบาย “ธัชวิทย์” ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหาร และจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กล่าวรายงานการดำเนินงาน “ธัชวิทย์” พร้อมนี้ มีผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย และหน่วยงานเอกชน รวมทั้งสิ้น 26 หน่วยงานเข้าร่วมพิธีลงนาม ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) บรรยายพิเศษ หัวข้อ “ธัชวิทย์” เพื่อประเทศไทย  สำหรับโครงการ “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาต่าง ๆ จากสถาบันวิจัยแห่งชาติ สถาบันอุดมศึกษา และภาคเอกชน ในการทำงานร่วมกัน โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศที่มีอยู่แล้ว เพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ที่ดี มีฐานการพัฒนาคนไทยให้ได้ดี สร้างคลังสมอง เพิ่มระดับมหาวิทยาลัย สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้า ผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงในสาขาที่จำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่เวทีโลก

การลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อนำองค์ความรู้ แต่ละฝ่ายที่มีอยู่มาร่วมกันสร้างความเข้มแข็ง สร้างคลังสมองในการตอบโจทย์ แก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศ และชี้แนะแนวโน้มทิศทางของโลกในอนาคต เพื่อผลิตและพัฒนาทักษะบุคลากรสมรรถนะสูงให้สอดคล้องกับความต้องการและยกระดับความสามารถของสถาบันวิจัยแห่งชาติ ภาคอุตสาหกรรม ในสาขาเฉพาะด้าน และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมแนวหน้าที่เป็นที่ต้องการของประเทศในปัจจุบันและอนาคต