คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล จัดประชุมวิชาการระดับชาติ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เรื่อง ศิลปศาสตร์ในยุคดิสรัปชั่น: การศึกษาและนวัตกรรมทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในศตวรรษที่ 21

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม MU Pride Celebration : เวทีเสวนาสิทธิและความหลากหลายทางเพศ
June 17, 2022
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ผนึกเครือข่ายรัฐ-เอกชน ลงนาม MOU เตรียมจัดงาน ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ “จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022”
June 17, 2022

คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล จัดประชุมวิชาการระดับชาติ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เรื่อง ศิลปศาสตร์ในยุคดิสรัปชั่น: การศึกษาและนวัตกรรมทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในศตวรรษที่ 21

วันที่ 17 มิถุนายน 2565 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมวิชาการระดับชาติ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 6 ประจำปี 2565 เรื่อง ศิลปศาสตร์ในยุคดิสรัปชั่น: การศึกษาและนวัตกรรมทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 (The 6th National Conference on Liberal Arts in the Age of Disruption: Education and Innovation in Humanities and Social Sciences in the 21st Century) โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิวิชญ์ เลี้ยงอิสสระ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน มีผู้บริหารส่วนงาน บุคลากร และผู้สนใจ เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมเอส ดี อเวนิว กรุงเทพมหานคร

ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การยกระดับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในประเทศไทย” โดยกล่าวว่า การที่เราจะเขียนผลงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ จะต้องอ่านง่าย เร้าใจ คล้อยตาม อ่านแล้วคนทั่วไปอยากอ่านต่อ เพราะผลงานทางด้านนี้จะไม่เหมือนผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ หากเราเขียนไม่ดีอาจจะทำให้งานนั้น กลายเป็นงานที่ไม่มีใครสนใจ ไม่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคม นักวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ฯ เมื่อทำการวิจัยไปแล้วนั้น มักจะพบเห็นแต่ปัญหา เรามักจะคิดว่าคนที่เก่ง คือคนที่รู้ปัญหา แต่คนที่อธิบายปัญหา คนที่เข้าใจปัญหา และสามารถแก้ปัญหา ต่างหากถือว่าเป็นคนเก่ง อยากให้ทุกคนเก่งกว่านั้น คือ เห็นปัญหาแล้วเห็นโอกาส เปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาส ใช้ความรู้ ความสามารถ ไหวพริบของตัวเอง พลิกปัญหาให้เป็นโอกาส เช่น ผู้สูงอายุในประเทศไทย เมื่อศึกษาไปพบแต่ปัญหาว่า ประเทศเราจะเข้าสู่ยุคแห่งผู้สูงวัย แต่เราต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไร ให้ปัญหานี้ไม่เกิดแต่ปัญหา แต่สามารถสร้างเป็นโอกาส ซึ่งมีนักสังคมศาสตร์จำนวนหนึ่ง เห็นเรื่องผู้สูงวัยแล้วเห็นว่าเป็นโอกาสของประเทศที่จะมีงานดูแลผู้สูงวัยที่จะเป็นงานสำคัญต่อไปในอนาคต ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับวัยทำงาน โดยการสร้างอาชีพการดูแลผู้สูงอายุ และรีบผลิตผู้เชี่ยวชาญทางด้านผู้สูงอายุเพื่อมาทำงานตรงนี้ ซึ่งอาจจะสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก หากเรามีทำการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยมีความก้าวหน้า ในอนาคตผู้สูงวัยชาวต่างชาติอาจจะเข้ามารับการรักษาในประเทศเรา ทำให้ยิ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญอีกประการ เราต้องมีการทำงานอย่างก้าวประโดด ไม่ควรก้าวไปทีละก้าวแบบเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะไม่ทันคนอื่นที่เค้าล้ำหน้าไปไกลมากแล้ว โดยสุดท้ายนี้ เราเกิดมาในยุคที่งานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เพิ่งตั้งตัว เพราะฉะนั้นเราจะต้องสานต่อด้วยการวางแผนยุทธศาสตร์งานด้านนี้ ว่าเราควรจะสร้างให้ไปในทิศทางไหน สร้างให้เห็นอนาคต หน้าที่ของเราคือจะต้องเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทักษะ ที่เราได้ศึกษามา มาเปลี่ยนแปลงงานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ให้เกิดความเข็มแข็ง และพร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติต่อไป

ภายในงาน มีการนำเสนอผลงาน Parallel session ในหมวดสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยแบ่งการนำเสนอเป็นกลุ่มย่อยในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การตลาด อุตสาหกรรมกีฬา ภาษา การสอนภาษาต่างประเทศ สังคมสูงวัยและสุขภาวะในสังคม เทคโนโลยีการศึกษา การศึกษาในศตวรรษที่ 21 และภูมิทัศน์ทางภาษาศาสตร์และการท่องเที่ยว ซึ่งการประชุมวิชาการในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อ เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การวิจัยทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเปิดโอกาสให้คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา มีเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัย และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นทางวิชาการร่วมกัน ระหว่างบุคลากรจากต่างสังกัด และเพื่อประสานความร่วมมือ และสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับสถาบันอื่น